การลาสิก
ภิกษุผู้เบื่อหน่ายแต่การประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาจะกลับคืนไปสู่ความเป็นคฤหัสถ์ ย่อมทําได้ด้วยการลาสิกขา คือปฏิญญาตนเป็นผู้อื่นจากภิกษุต่อหน้าภิกษุด้วยกัน แล้วละเพศภิกษุเสีย ถือเอาเพศที่ปฏิญญานั้น ท่านอนุมัติให้ทําอย่างนั้นได้ แม้ต่อหน้าคนอื่นจากภิกษุ
คําปฏิญญานั้น ต้องชัดพอที่ผู้ฟังจะรู้ได้ว่าตนละความเป็นภิกษุ ถึงความเป็นผู้อื่น, ในวิภังค์แห่งปฐมปาราชิกสิกขาบท ท่านแสดงวัตถุเรียกในอรรถกถาว่า เขตที่ควรอ้างถึงคําปฏิญญาไว้ดังนี้ :
๑. ลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา วินัย ปาติโมกข์ อุทเทส อุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก สมานุปัชฌายกะ สมานาจริยกะ สพรหมจารี. ในวัตถุเหล่านี้ สิกขา วินัย ปาติโมกข์ อุทเทส เป็นของชัดพอ เปล่งคําลา ๔ วัตถุนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อม สําเร็จความเข้าใจว่า ลาความเป็นภิกษุ, วัตถุนอกนี้ไม่ชัดพอ ได้ คําอื่นเข้าประกอบด้วยเป็นดี
๒. ปฏิญญาตนเป็นคฤหัสถ์ เป็นอุบาสก เป็นอารามิก เป็น สามเณร เป็นเดียรถีย์ เป็นสาวกเดียรถีย์
๓. ปฏิเสธความเป็นสมณะ ความเป็นสักยบุตติยะ
๔. แสดงความไม่ต้องการหรือไม่เกี่ยวข้องด้วยวัตถุ เป็นเขตลา อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใช้คําอื่นอันเป็นไวพจน์ของวัตถุเหล่านี้ ย่อมสําเร็จความเข้าใจได้เหมือนกัน และการปฏิญญานั้น ต้องทําเป็นกิจลักษณะดังนี้ :
๑. ทําด้วยตั้งใจเพื่อลาสิกขาจริง ๆ เป็นแต่ลําพังว่าเล่นหรือท่องคําลา หรือกล่าวโดยอาการแสดงวินัยกถา ไม่นับว่าลา
๒. ปฏิญญาด้วยคําเด็ดขาด ไม่ใช่รําพึง ไม่ใช่ปริกัป ไม่ใช่อ้างความเป็นมาแล้ว หรือจักเป็นข้างหน้า, ปฏิญญาด้วยคําเด็ดขาด นั้นอย่างไร ? เช่นปฏิญญาว่า “สิกขํ ปจจกุขามิ” ข้าพเจ้าลาสิกขา หรือว่า “คิหีติ มัง ธาเรถ” ท่านทั้งหลายจงทรงข้าพเจ้า ไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์, คําต้นใช้กิริยาบอกสมานกาล คือหมายความว่า ทําอยู่บัดนั้น คําหลังใช้กิริยาบอกสั่ง, คํารําพึงนั้นอย่างไร ? เช่น ” ยนฺนูนาหํ สิกฺขํ ปจุจกฺเขยุยํ” ไฉนหนอ เราพึงลาสิกขาเสียเถิด, “ยนฺนูนาหํ คิหี อสฺสํ” ไฉนหนอ เราพึงเป็นคฤหัสถ์เสียเถิด. คําปริกัปนั้นอย่างไร ? เช่น “สเจ สิกฺขํ ปจุจกเขยุยํ, อนภิรติ เม ปฏิปสมฺสมฺเภยุยํ “ถ้าเราลาสิกขาเสีย ความไม่ยินดีของเราจักสงบ, “ยทิ คิหี อส์สํ สุขํ ชีเวยฺยํ “ถ้าเราพึงเป็นคฤหัสถ์ เราพึงเป็นอยู่สบาย, คําอ้างความเป็นมาแล้วนั้นอย่างไร ? เช่น “สิกฺขํ ปจุจกฺขาสึ” ข้าพเจ้าลาสิกขาเสียแล้ว “คิหี อโหสึ” ข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์เสียแล้ว คําอ้างความจักเป็นข้างหน้าอย่างไร ? เช่น “สิกฺขํ ปจฺจกฺขิสฺสํ” ข้าพเจ้าจักลาสิกขา, “คิหี ภวิสฺสํ” ข้าพเจ้าจักเป็นคฤหัสถ์, เป็นแต่พูดรําพึง พูดปริกัป พูดอ้างความเป็นมาแล้ว หรือจักเป็นข้างหน้า อย่างนี้ไม่เป็นอันลา
๓. ลั่นวาจาปฏิญญาด้วยตนเอง ให้ผู้อื่นปฏิญญาแทน ใช้ไม่ได้ แสดงกายประโยค คือเปลื้องผ้ากาสายะเสีย นุ่งห่มอย่าง คฤหัสถ์ ไม่นับว่า เพราะมีพระบัญญัติปรับไว้เพียงอาบัติทุกกฏ เพราะเหตุนี้กระมัง ท่านจึงห้ามกายประโยค น่าจะเทียบด้วยการไปเข้ารีตเดียรถีย์ เพียงนุ่งห่มอย่างเดียรถีย์ มีพระบัญญัติปรับไว้ เพียงอาบัติถุลลัจจัย ไปอยู่ในสํานักเดียรถีย์ และถือเพศเป็นอย่างนั้น ท่านปรับเป็นเข้ารีตเดียรถีย์ ขาดจากภิกษุภาพ ถ้าภิกษุถือเพศแห่งคฤหัสถ์แล้วเข้าไปอยู่บ้าน ดูน่าจะฟังได้ว่าปฏิญญาเป็นคฤหัสถ์ด้วยกายประโยค ความจริงก็จะต้องเป็นเช่นนั้น ต่างว่าผู้นั้น กลับมาวัด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือเพศภิกษุอีก คงไม่มีใครยอมให้ เข้าหมู่อีก, คํานี้มีเรื่องสาธกในอรรถกถาธรรมบท ตอนวรรณนา ยมกวรรคว่า พระมหากาล เดิมเป็นกุฎมพี ( คนมีทรัพย์) ออกบวชด้วยศรัทธา พระจุลกาลผู้น้องบวชตามพี่ชาย มีธรรมเนียมว่า พระศาสดาทรงรับนิมนต์ของบ้านใดไว้แล้ว ถึงวันกําหนด ภิกษุรูปหนึ่งไปบ้านนั้นแต่เช้า เพื่อแนะให้แต่งตั้งอาสนะ, พวกภรรยาเก่า ของพระจุลกาลคิดจะจับสามีของตน จึงทําอุบายนิมนต์พระศาสดา กับพระสงฆ์ไปฉันที่บ้าน และขอพระจุลกาลไปแนะให้ปูอาสนะ พอไปถึง พวกหญิงนั้นก็เข้าจับเปลื้องผ้ากาสายะออก ให้นุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์แล้วส่งให้กลับมานําเสด็จพระศาสดาและพระสงฆ์ไป.
จุลกาลก็สมัครถือเพศเป็นคฤหัสถ์ ความประพฤติของพระสงฆ์ต่อจุลกาลก็เป็นอย่างทําต่อคฤหัสถ์ และจุลกาลก็กลับไปอยู่บ้าน, เรื่องในอรรถกถาธรรมบทฟังได้ยาก ส่วนเรื่องนี้ฟังเผิน ๆ ก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้ามีภิกษุเป็นอย่างนั้นขึ้นจริง ก็น่าจะต้องลงเอาว่า เป็นอันปฏิญญาตนเป็นคฤหัสถ์ตามเรื่องนี้ ถ้ายอมรับความข้อนี้ การแสดงกายประโยคที่ฟังได้สนิทก็น่าจะใช้ได้, อีกอย่างหนึ่ง กายประโยคอันอาจทําแทนปฏิญญาด้วยวาจาก็มีคือเขียนหนังสือปฏิญญาตนเป็นคฤหัสถ์ น่าจะฟังได้ทีเดียว
๔. ผู้ปฏิญญา เป็นคนปกติ ไม่ใช่บ้า ไม่ใช่ผู้เสียสติถึงเพ้อ ไม่ใช่ผู้กระสับกระส่ายเพราะทุกเวทนาถึงไม่รู้ตัว ผู้รับปฏิญญาก็เป็นคน ปกติเหมือนกัน ถ้าเป็นคน ๓ ประเภทนั้น ใช้ไม่ได้
๕. ผู้รับปฏิญญาเข้าใจคํานั้นในทันที. ปฏิญญาด้วยภาษาอัน ผู้รับไม่เข้าใจ ใช้ไม่ได้ เพราะข้อนี้ คําปฏิญญาจึงว่าในภาษาไทยด้วยอีกอย่างหนึ่ง ปฏิญญาต่อผู้ใด ผู้นั้นเข้าใจ ถ้าผู้นั้นไม่เข้าใจ แม้ผู้อื่นเข้าใจ ก็ใช้ไม่ได้
ปฏิญญาพร้อมด้วยจิต ด้วยกาล ด้วยประโยค ด้วยบุคคล และด้วยความเข้าใจอย่างนี้ จึงเป็นกิจลักษณะ
คําปฏิญญาที่ใช้อยู่ในบัดนี้ ๒ คําควบกันว่า “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ คิหีติ มํ ธาเรถ” ข้าพเจ้าลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจําข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์, เมื่อถือเพศคฤหัสถ์แล้ว แสดงอุปาสกัตตเทศนาอีก วาระหนึ่ง แล้วรับศีลเพื่อทําให้มั่นอีกชั้นหนึ่ง
เป็นหน้าที่ของอุปัชฌายะ ของอาจารย์ จะนั่งกํากับสิทธิวิหาริก อันเตวาสิกของตนผู้เบื่อหน่ายต่อพรหมจรรย์ ให้ลาสิกขาถูกระเบียบ ทําอย่างนั้น ชื่อว่าลาด้วยดี จึงนํามากล่าวไว้ในเล่มนี้
แม้มีธรรมเนียมลาสิกขาก็ได้อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายในกาลก่อน ได้ประพฤติพรหมจรรย์ตลอดไปเป็นพื้น ความคิดบากบั่นว่า “อนิวตฺติ ภวิสฺสามิ พฺรหฺมจริยปรายโน” เราจักเป็นผู้ไม่กลับมีพรหมจรรย์เป็นเครื่องไปในเบื้องหน้า ฝังเป็นอารมณ์อยู่ในใจ จึงตั้งเป็นหลักอยู่ในพระพุทธศาสนา ทําให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสของมหาชน ประดับพระศาสนาให้งดงาม, ฝ่ายภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ไปไม่ตลอด ลาสิกขาเสีย ชื่อว่าเป็นผู้ถอยหลัง ขาดความบากบั่น เรียกว่า “หีนายาวตฺตติ” แปลว่า “เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว” เขาจึงไม่สรรเสริญ, คําติว่า เป็นผู้เสื่อมทั้งทางฆราวาสทั้งทางสมณะ ค่อนข้างได้จริง เพราะผู้นั้นออกบวช อยู่นาน คลาดโอกาสที่ตั้งตัวในทางฆราวาส ครั้นประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ตลอดไปตัดความเจริญในทางสมณะเสีย, ภิกษุทั้งหลายผู้บากบั่นมาในทางสมณะ ควรคํานึงถึงความนั้นเป็นอารมณ์ ไม่พึงเห็นว่า การลา สิกขาเป็นกิจอันจะพึ่งทําด้วยง่าย เพราะการเปลี่ยนสภาวะต่อละที ไม่เป็นการสะดวกเลย
สําหรับสามเณร ไม่มีคําลาหรือคําปฏิญญา สามเณรผู้ปรารถนาจะละภาวะของตน เปลื้องผ้ากาสายะถือเพศเป็นอื่นแล้ว ทําเป็นกิจลักษณะที่เป็นอันสึก. จะกล่าวคําลาว่า “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ” ข้าพเจ้าลาสิกขา ก็ควร ดูเป็นกิจลักษณะดี แต่บทว่า “คิหี” คฤหัสถ์นั้น ได้แก่คนมีเรือนมีครอบครัวเป็นผู้ใหญ่ เด็กปฏิญญาตนอย่างนั้น ไม่เข้าที ควรยกบทต่อไปเสีย
ที่มา : วินัยมุขเล่ม 3 หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก (นักธรรมเอก) โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สรุปย่อการลาสิกขา
บุคคลผู้ควรรับปฏิญญาของภิกษุผู้ลาสิกขา มี ๒ คือ :
๑. ภิกษุ
๒. คนอื่นจากภิกษุ (หมายถึงบุคคอื่นที่ไม่ใช่ภิกษุก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ มีสติสัมปชัญญะ รู้ความหมายคำปฏิญญาของตน แต่ธรรมเนียมปฏิบัติปฏิญญาต่อหน้าภิกษุด้วยกัน)
วัตถุคือเขตที่ควรอ้างถึงในคําปฏิญญา คือ :
๑. ลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา วินัย ปาฏิโมกข์ อุทเทส อุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก สมานุปัชฌายกะ สมานาจริยกะ สพรหมจารี, เปล่งคําลา ๔ วัตถุนี้อย่างใดอย่าง หนึ่งสําเร็จความเข้าใจว่าลาความเป็นภิกษุ วัตถุนอกนี้ไม่ชัดพอ ได้คําอื่นเข้าประกอบด้วยเป็นดี (หมายความว่า ไม่ควรกล่าวลาเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะรัตนะเหล่านี้ย่อมควรแก่การน้อมเข้ามาสู่ตนแม้จะเป็นคฤหัสถ์แล้วก็ตาม ส่วน สิกขา วินัย ปาฏิโมกข์ อุทเทส เป็นของเฉพาะภิกษุเท่านั้น)
๒. ปริญญาตนเป็นคฤหัสถ์ เป็นอุบาสก เป็นอารามิก เป็นสามเณร เป็นเดียรถีย์ เป็นสาวกเดียรถีย์
๓. ปฏิเสธความเป็นสมณะ ความเป็นสักยบุตติยะ
๔. แสดงความไม่ต้องการหรือไม่เกี่ยวข้องด้วยวัตถุเป็นเขตลาอย่างใดอย่างหนึ่ง
การปฏิญญานั้น ต้องทําเป็นกิจลักษณะดังนี้ :
๑. ทําด้วยตั้งใจเพื่อลาสิกขาจริง ๆ ว่าเล่น ท่องคําลาหรือกล่าวโดยอาการแสดงวินัยกถา ไม่นับว่าลา
๒. ปฏิญญาด้วยคําเด็ดขาด ไม่ใช่รําพึง ไม่ใช่ปริกัป ไม่ใช่อ้างความเป็นมาแล้วหรือจักเป็นข้างหน้า
๓. ลั่นวาจาปฏิญญาด้วยตนเอง (อาจจะมีบ้างที่พระอาจารย์ผู้รับปฏิญญาเป็นผู้บอกให้ แต่ผู้ทำการลาสิกขาก็ต้องว่าตามด้วยความหนักแน่น)
๔. ผู้ปฏิญญาเป็นคนปกติ ไม่ใช้บ้า ไม่ใช่ผู้เสียสติถึงเพ้อ ไม่ใช่ผู้กระสับกระส่ายเพราะทุกขเวทนาถึงไม่รู้ตัว ผู้รับปฏิญญาก็เป็นคนปกติเหมือนกัน ถ้าเป็นคน ๓ ประเภทนั้นใช้ไม่ได้
๕. ผู้รับปฏิญญาเข้าใจคํานั้นในทันที (ปฏิญญาพร้อมด้วยจิต กาลประโยค บุคคล และความเข้าใจ อย่างนี้ เป็นกิจลักษณะ ).
คําปฏิญญาที่เด็ดขาดและไม่เด็ดขาดดังนี้ :
๑. ” สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ ” ข้าพเจ้าลาสิกขา หรือว่า ” คิหีติ มํ ธาเรถ”ท่านทั้งหลายจงทรงข้าพเจ้าไว้เป็นคฤหัสถ์ ( นี้คําเด็ดขาด)
๒. ” ยนฺนูนาหํ สิกฺขํ ปจฺจกฺเขยฺยํ ” ไฉนหนอเราจึงลาสิกขาเสียเถิด หรือว่า ” ยนฺนูนาหํ คีหี อสฺสํ ” ไฉนหนอเราพึงเป็นคฤหัสถ์เสีย เถิด (รําพึง).
๓. “สเจ สิกฺขํ ปจฺจกฺเขยฺยํ อนภิรติ เม ปฏิปสฺสมฺเภยฺยํ” ถ้าเราลาสิกขาเสีย ความไม่ยินดีของเราจักสงบ หรือว่า ” ยทิ คิหี อสฺสํ สุขํ ชีเวยฺยํ ” ถ้าเราพึงเป็นคฤหัสถ์ เราพึงเป็นอยู่สบาย (ปริกัป).
๔. ” สิกฺขํ ปจฺจกฺขาสึ” ข้าพเจ้าลาสิกขาเสียแล้ว หรือว่า ” คิหี อโหสิ” ข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์เสียแล้ว ( อ้างความเป็นมาแล้ว) ” สิกฺขํ ปจฺจกุขิสฺสํ ” ข้าพเจ้าจักลาสิกขา หรือว่า ” คิหี ภวิสฺสํ ” ข้าพเจ้าจักเป็นคฤหัสถ์ ( อ้างความจักเป็นข้างหน้า)
(ข้อ ๒-๔ ไม่ใช่คําเด็ดขาด).
ที่มา : อุปกรณ์วินัยมุข เล่ม 3
ขั้นตอนการลาสิกขา
เมื่อถึงกำหนดพระสงฆ์ผู้จะนั่งเป็นพยานเข้าประชุมพร้อมกัน ภิกษุผู้จะต้องการลาสิกขา แสดงอาบัติหมดจดสิ้นดีแล้ว พึงพาดผ้าสังฆาฏิเข้าไปนั่งกระเหย่ง หันหน้าตรงต่อพระพุทธรูป (ที่ประดิษฐานบนที่บูชา) กราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ หน ประณมมือ เปล่งวาจา นะโม ๓ จบ ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ
จบแล้วกล่าวอตีตปัจจเวกขณ์ทั้ง ๔ ปัจจัย พอให้สงฆ์ได้ยิน (ถ้าผู้สึกหลายรูปให้ว่าพร้อม กันก็ได้) ดังนี้
เปล่งวาจาทั้งอรรถทั้งแปล พร้อมด้วยเจตนาที่จะละเพศออกเป็นคฤหัสถ์ คราวละคน ว่า…
อัชชะ มะยา อะปัจะเวกขิตะวา, ยัง จีวะรัง ปะริภุตตัง ตัง ยาวะเทวะ สีตัสสะ ปะฏิฆาตายะ, อุณหัสสะ ปฏิฆาตายะ, ดังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง ปฏิฆาตายะ ยาวเทวะ หิหิโกปินะปะฏิจฉาทะนัตถัง.
อัชชะ มะยา อปัจะเวกขิตะวา, โย ปิณตะปาโต ปริภุตโต, โส เนวะ ทะวายะ นะ มะทายะ นะ มัณฑะนายะ นะ วิภูสะนายะ, ยาวเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา ยาปะนายะ วิหิงสุปะระติยา พรัหมะจะริยานุคคะหายะ, อิติ ปุราณัญจะ เวทะนัง ปฏิหังขามิ นะวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ, ยาตรา จะ เม ภะวิสสะติ อะนะวัชชะตา จะ ผาสุวิหาโรจาติ.
อัชชะ มะยา อปัจะเวกขิตะวา, โย เสนาสะนัง ปริภุตตัง, ตัง ยาวะเทวะ สีตัสสะ ปะฏิฆาตายะ, อุณหัสสะ ปฏิฆาตายะ, ดังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง ปฏิฆาตายะ ยาวเทวะ อุตุปริสสะยะ วิโนทะนัง ปฏิสัลลานารามัตถัง.
อัชชะ มะยา อะปัจะเวกขิตะวา, โย คิลานะปัจจะยะเภสัชชะปะริกขาโร ปริภุตโต, โส ยาวเทวะ อุปปันนานัง เวยยาพาธิกานัง เวทนานัง ปฏิฆาตายะ, อัพยาปัชฌา ปะระมะตายาติ ฯ
จากนั้นรอจนถึงฤกษ์ เมื่อได้ฤกษ์แล้ว พึงหันหน้าไปหาพระสงฆ์ผู้เป็นองค์ประธาน เปล่งวาจาคำลาสิกขาทั้งบาลีทั้งคำแปล พร้อมด้วยเจตนาที่จะละเพศออกเป็นคฤหัสถ์ คราวละคน ดังนี้
สิกขัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าลาสิกขา
คิหีติ มัง ธาเรถะ ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นคฤหัสถ์
ถ้าความรู้สึกใจดิ่งเที่ยวลงไปว่าเป็นคฤหัสถ์แน่แล้ว ว่าเพียง ๑ จบ ก็ใช้ได้ แต่ถ้ายังไม่แน่วแน่ พอ จะว่ากี่ครั้งก็ได้ ว่าไปจนตกลงใจ
เสร็จแล้วน้อมตัวไปหาพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน ๆ จะดึงผ้าสังฆาฏิออก จากนั้นพึงลุกขึ้นไปเปลี่ยนเป็นนุ่งชุดขาว (หรือชุดนาค) แล้วกลับเข้าไปหาพระสงฆ์ กราบแล้วกล่าวคำแสดงตนเป็นอุบาสกต่อหน้าพระสงฆ์ ว่าดังนี้
เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ
ตัง ภะคะวะตัง สะระณัง คัจฉามิ.
ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ,
อุปาสะกัง มัง สังโฆ ธาเรตุ,
อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง สะระณัง คะตัง.
คำแปล (ไม่ต้องว่า) ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพานนานแล้วนั้น กับพระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่ วันนี้เป็นต้นไป.
ต่อจากนั้น พึงตั้งใจรับศีลจากพระสงฆ์ผู้เป็นประธานไปจนจบ กราบแล้วลุกขึ้นไปยังที่เตรียมไว้ เพื่อพระสงฆ์จะได้รดน้ำพระพุทธมนต์ต่อไป จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นนุ่งชุดคฤหัสถ์ กลับเข้าไปหาพระสงฆ์ ประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม กรวดน้ำ เป็นเสร็จพิธี ฯ
ที่มาบางส่วนของการลาสิกขา : dhammathai.org