ยุคสมัย ศิลปะ พระเชียงรุ้ง
เชียงรุ่ง ในภาษาจีนออกเสียงเป็น จิ่งหง, เจียงฮุ่ง หรือในภาษาไทลื้ออกเสียงเป็น เจงฮุ่ง (เชียงรุ่ง) เป็นชื่อเมืองเอกในเขตปกครองพิเศษของไท-สิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีชายแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับประเทศพม่า และชายแดนทางตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศลาว
คำว่า เชียงรุ่ง มาจากตำนาน “พะเจ่าเหลบโหลก” (พระเจ้าเลียบโลก) ของชาวไทลื้อที่ว่า เมื่อครั้งองค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ยังดินแดนริมฝั่งโขงของชาวไทลื้อแห่งนี้ ก็เป็นเวลาเช้าพอดี จึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “เชียง” ที่แปลว่า “เมือง” และ “รุ่ง” ที่แปลว่า “รุ่งอรุณ” ฉะนั้น “เชียงรุ่ง” จึงแปลว่า เมืองแห่งรุ่งอรุณ (อันเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง)
ต่อมา เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา เพื่อสักการบูชา อาราธนาติดตัว หรือเพื่อความเป็นสิริมงคล หวังบุญกุศล จึงเรียกพระตามสถานที่สร้างหรือสถานที่พบว่า พระเชียงรุ่ง หรือ พระเชียงรุ้ง
พระเชียงรุ้ง เป็นพระพุทธรูปศิลปะลานช้าง ซึ่งนับเข้าในพระพุทธรูปยุค 7 เชียง ได้แก่….เชียงแสน – เชียงรุ้ง – เชียงใหม่ – เชียงราย – เชียงของ – เชียงตุง – เชียงดาว – เชียงขาง (หลวงพระบาง)
ตำนานการสร้างพระชัยเชียงรุ้ง พระชัยหลังช้าง พระชัยยอดธง กล่าวไว้ในตำราว่า “ผู้ใดได้สร้างพระชัยเชียงรุ้ง ไว้สักการบูชา ผู้นั้นจะมีชัยชนะ แก่อธิราช ศัตรู หมู่มาร พ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง เป็นผู้ทรงอำนาจราชศักดิ์ มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง เกื้อหนุนวงศ์ ตระกูลให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป มีความร่มเย็นเป็นสุข มิได้ตกต่ำ เป็นมรดกอันล้ำค่าที่สืบทอดไปยังลูกหลานในกาลข้างหน้า” ด้วยเพราะเหตุนี้โบราณกาลแต่เก่าก่อน เชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ รวมทั้งชาวบ้านทั่วไป จึงนิยมสร้างพระชัยเชียงรุ้งไว้สักการบูชาเป็นพระประจำตระกูล
ที่มา :
พระพุทธรูปสมัยเชียงรุ้งปางมารวิชัย(ล้านช้าง)