การกรวดน้ำ
การกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนบุญนั้น มีวิธีนิยมทำกันดังนี้คือ เริ่มต้นด้วยการเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะไว้พอสมควร จะเป็นคณฑีขวดเล็ก ขวดน้ำ แก้วน้ำ หรือขันอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้
เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วย บทว่า ยถา วาริวะหา……..ก็เริ่มกรวดน้ำ โดยตั้งใจนึกอุทิศส่วนบุญ มือขวาจับภาชนะน้ำริน ใช้มือซ้ายประคอง แล้วว่าบทกรวดน้ำในใจไปจนจบ
การหลั่งน้ำกรวด ถ้าจะหลังลงบนพื้นดินควรหลั่งลงในที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือน ศาลา หรือสถานที่ที่ไม่ใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะอื่นที่สมควร เช่น แก้ว ถ้วย จาน หรือขัน เป็นต้น รองน้ำกรวดไว้ เสร็จแล้วจึงนำน้ำที่กรวดแล้วนั้นไปเทลงบนพื้นดินตรงที่สะอาด อย่าใช้กระโถน หรือภาชนะที่สกปรกรองน้ำเป็นอันขาด เพราะถือว่าน้ำที่กรวดนั้นเป็นสักขีพยานในการทำบุญของตนว่าทำด้วยใจที่ใสสะอาดจริง ๆ
การกรวดน้ำในสมัยพุทธกาลซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารทรงทำเป็นแบบอย่าง พระองค์ทรงอุทิศบุญด้วยพระดำรัสว่า
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ (ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด)
คนไทยเรานิยมต่อท้ายด้วยพุทธพจน์ที่ปรากฏในติโรกุฑฑะกัณฑะสูตร ว่า
สุขิตา โหนตุ ญาตะโย (ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุข ๆ เถิด)
จึงเป็นที่มาของคำกรวดน้ำย่อที่เราใช้กันว่า
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุข ๆ เถิด