ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
คำว่า “พิทักษ์สันติราษฎร์” หากแปลแยกศัพท์ก็จะได้ความหมาย ดังนี้
พิทักษ์ แปลว่า ดูแลคุ้มครอง, ปกป้องคุ้มครอง. (เป็นคำกริยา)
สันติ แปลว่า ความสงบ (เป็นคำนาม)
ราษฎร์ แปลว่า แว่นแคว้น, บ้านเมือง, พลเมืองของประเทศ, ประชาชน. (เป็นคำนาม)
ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จึงแปลว่า ผู้ปกป้อง คุ้มครอง ดูแล เพื่อให้เกิดความสงบสุข แก่บ้านเมืองและประชาชน
คำแปลนั้นไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นใคร อาจจะหมายถึงคนใดคนหนึ่ง ในสมัยก่อน หากมีฮีโร่ขี่ม้าขาวมาช่วยบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข ก็อาจจะเรียกว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ได้เช่นกัน แต่ทุกวันนี้ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ใช้ความหมายถึง ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่คอยดูแลทุกข์สุขของประชาชน แต่สิ่งที่ผมยังไม่รู้คือ คำว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ตำรวจเป็นผู้เรียกตัวเขาเองหรือประชาชนเป็นผู้เรียก
ตำรวจ
พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายของคำว่า ตำรวจ ดังนี้
[ตำ-หฺรวด] น. ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจตราและรักษาความสงบ.
(จากความหมายของคำว่า ตำรวจ ข้างบน เป็นความหมายของคำว่า ตำรวจ ว่าหมายถึงอะไร อาจจะไม่ใช่คำแปลตามตัวอักษร ซึ่งผมยังไม่ทราบว่า คำว่า ตำรวจ เป็นคำมาจากภาษาอะไร)
มีผู้ให้ความหมายของคำว่า ตำรวจ โดยแยกตามตัวอักษร (อักษรหมายถึง พยัญชนะและสระ) ดังนี้
“ต” หมายถึง ตรวจตรา จับกุม ผู้กระทำผิดตามหน้าที่ (ไม่ใช่ ต้มตุ๋น, ตกทรัพย์, หรือตั้งด่าน)
“ ำ” หมายถึง อำนวยความสะดวกให้ประชาชน (ไม่ใช่ อำนาจ หรือ อํามหิต)
“ร” หมายถึง ระงับเหตุ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ไม่ใช่ รีดไถ่)
“ว” หมายถึง วาจาดี มีกริยาสุภาพ (ไม่ใช่ วุ่นวาย หรือ วู่วาม)
“จ” หมายถึง จรรยาดี มีศีลธรรม (ไม่ใช่ โจร)
ที่มา ความหมายของตำรวจ