ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยสนใจพระเครื่องตระกูลพระสมเด็จ เพราะคิดตามคำพูดของใครหลาย ๆ คนที่ว่า “สมเด็จเสร็จทุกราย” จึงไม่ค่อยมีความรู้เรื่องพระสมเด็จมากนัก สำหรับพระสมเด็จองค์ที่ผมนำมาประกอบบทความนี้ เจ้าของเดิมโน้ตไว้ว่า “พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เจดีย์” ผมดูไม่ถนัดว่าแท้หรือไม่ แต่หากพจารณาดูมวลสารแล้ว เก่าใช้ได้ทีเดียว นับว่าเป็นพระสมเด็จที่มีเสน่ห์อยู่ไม่น้อย ผมจึงได้นำไปเลี่ยมเงินไว้เพื่ออาราธนาบูชาติดตัว แท้หรือไม่ ไม่ได้สนใจมากนัก แต่เราชอบและศรัทธาในความเป็นพระสมเด็จ พระสมเด็จองค์นี้ ผมเคยให้เพื่อน ๆ ดู บางคนก็บอกว่าขนาดนี้ พิมพ์นี้ เป็นพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ผมแอบคิดในใจเล่น ๆ ว่า เป็นไปได้ไหมว่าเป็นพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม แต่นำมาฝากกรุบางขุนพรหม
เพจ ชมรมพระสมเด็จวัดระฆัง-บางขุนพรหมกรุเก่า-กรุใหม่ ได้ให้ข้อมูล สมเด็จวัดระฆังพิมพ์เจดีย์ ดังนี้
พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ นับได้ว่าเป็นพระที่มีพุทธลักษณะโดยรวมของลำพระองค์ ( ลำตัว ) ขององค์พระที่หนากว่าพระสมเด็จพิมพ์อื่น ๆ และรูปทรงทั้งหมดจากพระเกศถึงฐานชั้นล่างสุด จะมีพุทธลักษณะคล้ายกับพระเจดีย์ จึงเรียกว่าพิมพ์ทรงเจดีย์ พระพิมพ์ทรงเจดีย์นี้สามารถแบ่งตามโครงสร้างออกได้เป็น ๒ ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
• พระสมเด็จพิมพ์ทรงเจดีย์ใหญ่ ส่วนของพระพักตร์จะมีลักษณะอูมเกือบกลม ด้านข้างของพระพักตร์ จะมีเส้นพระกรรณ ( หู ) ติดอยู่ไร ๆ ไม่ชัดเจนเท่าพิมพ์เกศบัวตูม สำหรับในองค์ที่ยังคงความสมบรูณ์ และการกดในช่วงแรกของการทำ ก่อนที่แม่พิมพ์จะเริ่มลบเลือน ส่วนลำพระองค์ ( ลำตัว ) จะล่ำ เอวหนา และวงพระกร ( วงแขน ) จะสอบเข้าหาลำตัว ( วงพระกรแคบ )
• พระพิมพ์ทรงเจดีย์เล็ก พระสมเด็จพิมพ์นี้จะมีลักษณะโดยรวมผอมบางกว่าพิมพ์แรก พระพักตร์ ( หน้า ) จะเรียวกว่า มีปลายพระเกศสั้น หลายองค์ที่พบเห็นจะมีพระเกศจะไม่จรดซุ้มด้านบน ลำพระองค์จะมีความหนาเป็นรูปกระบอก ( แต่เว้าเอวเล็กน้อย ) ลำพระกร ( ลำแขน ) ช่วงบนจะหนาอูมแบบแขนนักกล้าม และวาดลำพระกรแคบ ( วงแขนแคบ ) มากกว่าสมเด็จพิมพ์อื่น ๆ ในพระที่มีความสมบรูณ์ จะปรากฏเห็นเส้นสังฆาฏิอย่างชัดเจน
ในวงการพระเครื่อง หากพระทั้งสองพิมพ์มีความสมบูรณ์เท่ากัน พระสมเด็จพิมพ์ทรงเจดีย์ใหญ่จะมีค่านิยมสูงกว่าพิมพ์ทรงเจดีย์เล็ก แต่หากพระสมเด็จพิมพ์ทรงเจดีย์เล็กมีความสมบูรณ์มากกว่า อาจจะมีค่าความนิยมสูงกว่าพระสมเด็จพิมพ์เจดีย์ใหญ่