เวลาตักบาตรทำไมต้องถอดรองเท้า ? ไม่ถอดรองเท้าแล้วใส่บาตรได้ไหม ? นี่เป็นคำถามที่เห็นถามกันบ่อย ผมเองก็ไม่ได้ไล่ดูตอบในที่ต่าง ๆ ทั้งหมด แต่นำมาตอบเป็นประเด็น ๆ ไป ผิดพลาดชี้แนะ แสดงความคิดเห็นได้
ไม่ถอดรองเท้าพระรับบิณฑบาตได้ไหม
การถวายอาหารบิณฑบาตก็เหมือนการประเคนภัตตาหารในเวลาที่พระท่านออกบิณฑบาตซึ่งในส่วนพระวินัยไม่ได้มีข้อกำหนดว่าผู้ประเคนหรือผู้ใส่บาตรต้องถอดรองเท้า เคยได้อ่านมาว่า แม้ผู้ประเคนจะอยู่บนต้นไม้เด็ดผลไม้ถวาย พระยืนรับอยู่ใต้ต้นไม้ก็ย่อมได้ (ไม่ใช่โยนหรือทิ้งลงมาให้พระรับนะ) หรือผู้ประเคนอยู่บนหลังช้างหลังม้าพระผู้รับยืนอยู่ข้างล่างก็สำหรับเป็นการประเคนได้เช่นกัน แต่ต้องอยู่ในหัตถบาสคือห่างประมาณ 1 ศอก หรือกว่านั้นนิดหน่อยแต่ไม่ใช่แบบต้องเอื้อม (ผู้ประเคนอยู่บนหลังช้าง ก็ต้องให้ช้างหมอบลงจึงประเคน) ฉะนั้นในส่วนของพระวินัยนั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องถอดรองเท้าเวลาประเคน ต้องถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร (อ่านข้อต่อไป)
ทำไมต้องถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร
1. เป็นการแสดงความเคารพพระสงฆ์
พระท่านไม่ได้สวมรองเท้าเวลาออกบิณฑบาต ยืนอยู่บนพื้นปกติ ฉะนั้น เราจึงไม่ควรยืนอยู่บนที่สูงกว่าในเวลาใส่บาตร ถอดรองเท้าแล้วยืนบนรองเท้าก็เหมือนไม่ได้ถอด ยังถือว่ายืนอยู่บนที่สูงเหมือนเดิม
2. เป็นการเคารพในทาน
ข้อนี้จิตผมอาจจะคิดไปเอง เป็นการเคารพในทาน หรือพูดกลับกันก็คือเป็นการให้ทานด้วยความเคารพ ด้วยความหนักแน่นแห่งจิต เป็นเครื่องแสดงออกถึงความละเอียดอ่อนของจิตของผู้ให้ จิตละเอียดไม่ละเอียดไม่มีใครมองเห็น แต่การกระทำมันเป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ไม่ดื้อดึง ไม่มีความถือตัว ไม่มีความหยิ่ง ตั้งใจให้ทานจริง ๆ ไม่ใช่ใส่บาตรสักแต่ว่าทำให้แล้ว ๆ ไป
3. เป็นธรรมเนียม
เป็นธรรมเนียมหรือวัฒนธรรม (ไม่รู้ใช้คำถูกไหม) ของการใส่บาตรของคนไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงมาช้านานว่าการใส่บาตรต้องถอดรองเท้า
4. เป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ
บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายของเราก็พาทำแบบนี้มาและมันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เราจะรักษาและทำต่อไป การรักษา ปฏิบัติตามสิ่งที่บรรพบุรุษได้ทำเป็นแบบอย่างไว้ จึงถือว่าเป็นการเคารพในบรรพบุรุษของตน
5. บ่งบอกถึงว่าเป็นผู้รู้จักทำเนียมปฏิบัติ มีการศึกษาดีงาม
การถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร เป็นการแสดงความเคารพในพระสงฆ์ผู้ซึ่งไม่สวมรองเท้ายืนพื้นดินปกติ เป็นการเคารพในธรรม รู้จักธรรมเนียมปฏิบัติ มีความเคารพในบรรพุบุรุษที่ทำเป็นแบบอย่าง ลองนึกภาพดูหากเรามองดูคนสองคนกำลังใส่บาตร คนหนึ่งสวมรองเท้าเวลาใส่บาตร อีกคนถอดรองเท้าเวลาใส่บาตร คนไหนจะน่ามองกว่า คนไหนที่เราดูแล้วน่าชื่นชมกว่า คนไหนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ธรรมเนียม รู้บุคคล รู้เวลามากกว่า
ไม่ถอดรองเท้าเวลาใส่บาตรได้ไหม
ถามว่า ไม่ถอดรองเท้าเวลาใส่บาตรบาปไหม ในเรื่องนี้มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของจิตผู้ใส่บาตรด้วย ผมจึงไม่สามารถตอบแบบฟันธงลงไป และต้องนิยามคำว่าบาปพอให้เข้าใจ ถ้าบาปหมายถึงความไม่สบายใจ รู้สึกไม่ดีที่ตนเองอยู่สูงกว่าพระ หรือถูกคนอื่นติเตียน ถูกคนอื่นมองว่าไม่รู้จักธรรมเนียม อย่างนี้มันก็ต้องเกิดขึ้นบ้างล่ะ แต่ถ้าบาปหมายถึงเข้าสู่อบายภูมิมีนรก เปรต เป็นต้น ถ้าอย่างนี้คงไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการไม่ถอดรองเท้าเวลาใส่บาตรครับ ถามว่า ไม่ถอดรองเท้าเวลาใส่บาตรได้ไหม คำตอบคือได้ แต่ควรอยู่ในเหตุอันควร เช่น
- พื้นแฉะ เต็มไปด้วยโคลน แต่ถ้าอยู่หน้าบ้านตนเองก็ควรถอดรองเท้า เพราะสามารถล้างเท้าได้โดยสะดวก
- พระยืนอยู่บนที่สูงกว่า พระยืนบนฟุตบาท เรายืนอยู่ข้างล่าง พื้นถนน แต่ถ้าถอดรองเท้าได้ก็ควรถอดเช่นกัน
- ป่วย เจ็บเท้า ถอดไม่ได้จะทำให้ติดเชื้อ คนป่วยได้รับข้อยกเว้นเสมอ
- ใส่รองเท้าที่ถอดยาก ในกรณีที่เราใส่ชุดไปทำงาน ไปเที่ยว คือไม่ได้ตั้งใจที่จะไปใส่บาตรแต่แรก แต่เดินออกมาเห็นพระกำลังบิณฑบาต มีจิตศรัทธา ไม่ประมาทในชีวิต กลัวจิตวอกแวก ซื้ออาหารใส่บาตร ครั้นจะถอดรองเท้าก็ไม่สะดวก ถอดยาก หรือทำให้เท้าเปื้อน จิตกังวลอีก อย่างนี้ผมว่าอนุโลมไม่ต้องถอดรองเท้าก็ได้ แต่ถ้าตั้งใจจะมาใส่บาตรอยู่แล้ว ควรที่จะสวมรองเท้าที่สามารถถอดได้โดยง่าย