คำว่า “เหี้ย” คำสั้น ๆ เพียงคำเดียว แต่ทรงพลังและรุนแรงในความหมายเชิงลบ เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีต่อปัจเจก กลุ่มคน สถานการณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องกับผลกระทบทางด้านอารมณ์ จิตใจและความรู้สึก
ตามธรรมชาติของภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คำ ๆ เดียวกันที่อยู่คนละยุคสมัยอาจมีความหมายเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยคำว่า “เหี้ย” นั้นก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ซึ่งสามารถแยกความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันของคำว่า “เหี้ย” ออกมาได้ดังนี้
ความหมายของคำว่า “เหี้ย”
ความหมายของเหี้ย ๑ ใช้เป็นคำนาม คือ ชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ชนิด Varanus salvator (Laurenti) ในวงศ์ Varanidae เป็นสัตว์สกุลเดียวกับตะกวด โตเต็มวัยยาวได้ถึง ๒.๕ เมตร ตัวอ้วนใหญ่สีน้ำตาลเข้ม มีลายดอกสีเหลืองพาดขวาง หางยาว อาศัยและหากินบริเวณใกล้นํ้า
ความหมายของเหี้ย ๒ ใช้เป็นคำวิเศษณ์ที่ขยายคำนาม มีความหมายว่า แย่ ไม่ดี เลว ทราม หรืออะไรต่าง ๆ ที่ใช้ในทางลบ ใช้เป็นคำด่า เช่น คนเหี้ย เพื่อนเหี้ย.
ความหมายของเหี้ย ๓ ใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒ ใช้เป็นคำทักทายหรือใช้เรียกแทนชื่อคนที่กำลังคุยด้วย เช่น เหี้ย เป็นไงบ้าง หรือ เหี้ย กินอะไรกันดีวะ.
ความหมายของเหี้ย ๔ ใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้แทนคนที่เรากำลังพูดถึง เช่น เหลือเชื่อเลยว่าเหี้ยนั่นจะกล้าทำอะไรแบบนี้.
ความหมายของเหี้ย ๕ ใช้เป็นคำอุทาน ทั้งแสดงความดีใจและเสียใจ ในทางบวกและทางลบ เช่น เหี้ย ! ตกใจหมด หรือ เหี้ย ! กูไม่ตกวะ.
ความหมายของเหี้ย ๖ ใช้เป็นคำสร้อยที่ไม่มีความหมายอะไร เช่น เลวเหี้ย อาจแปลว่าเลว หรือ เลวมาก ก็ได้.
ความหมายของเหี้ย ๗ ใช้เป็นคำวิเศษณ์ที่ขยายคำวิเศษณ์ มีความหมายว่า มาก เป็นคำซ้ำสองครั้ง ใช้ประกอบคำในความหมายในเชิงลบหรือบวก เช่น หล่อเหี้ย ๆ ข้อสังเกต : ถ้าคำว่าเหี้ยตามหลังอะไรที่เป็นคำนามจะมีความหมายลบ แต่ถ้าตามอะไรที่เป็นคำวิเศษณ์ (พวกบอกลักษณะคน สัตว์ สิ่งของ) จะมีความหมายบวก.
ขอบคุณประพันธ์ อภิวงค์ ที่มา คำไทย
ผมได้อ่านความหมายของคำว่า “เหี้ย” อึ้งเลย นี่ไม่เหี้ย ๆ เสียแล้ว จึงต้องขอนำมาบันทึกไว้เพื่อทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น เผื่อว่าคำเหล่านี้จะมาในรูปแบบต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อเรารู้แล้ว ก็จะได้รู้เท่าทันและรองรับพลังอันทรงพลังของมันได้
เหี้ย กับ ตะกวด (แลน) ต่างกันอย่างไร
ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องเหี้ยแล้ว มีคำถามว่า เหี้ยกับตะกวด (แลน) ต่างกันอย่างไร ในเรื่องนี้มีผู้ทั้งหลายให้ความรู้ไว้อย่างนี้
เหี้ย
เหี้ยมีลักษณะแตกต่างจากตะกวด ตรงที่รูจมูก รูจมูกของเหี้ยจะอยู่ปลายปากหรืออยู่ใกล้ปาก เพราะเหี้ยเป็นสัตว์ที่ชอบหากินตามแหล่งน้ำและชอบว่ายน้ำ รูจมูกที่อยู่ปลายปากจึงช่วยได้มากเพื่อสะดวกต่อการดำน้ำและว่ายน้ำนั่นเอง
ตะกวด (แลน)
ตะกวดมีขนาดเล็กกว่าเหี้ยมาก ตำแหน่งของโพรงจมูกของตะกวดจะอยู่ไม่ใกล้กับปลายปากเหมือนกับเหี้ย คืออยู่ใกล้ตา เพราะว่าตะกวดเป็นสัตว์ที่ชอบหากินบนบก ใช้ปากขุดคุ้ยดินเพื่อหาอาหารทำให้การมีรูจมูกอยู่ไกลจากปลายปากสะดวกต่อการหายใจและป้องกันเศษดินเศษทรายเข้ารูจมูกได้ด้วย ตะกวดยังมีปลายปากที่มนทู่กว่าเหี้ยอีกด้วย ตะกวดมักอาศัยบนต้นไม้ ปีนต้นไม้เก่ง ชอบนอนผึ่งแดดตามกิ่งไม้ แต่หากินตามพื้นดิน มักอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ พบในหุบเขา
นอกจากนั้นสีสันของสัตว์ทั้งสองยังต่างกัน สีสันตะกวดจะมีสีน้ำตาลหรือสีดำ ส่วนสีสันของเหี้ยที่มีสีเหลืองผสมอยู่เป็นลาย
เหี้ย ภาษาบาลีใช้คำว่า โคธา ซึ่ง โคธา ศัพท์นี้ หมายถึงทั้งเหี้ยและตะกวด ส่วนจะแแปลว่าอะไรต้องดูบริบทหรือเนื้อเรื่องนั้น ๆ
ฤาษีกินเหี้ยในโคธชาดก
ส่วนในโคธชาดกซึ่งคนมักพูดว่า “ฤาษีกินเหี้ย” อันที่จริงแล้วไม่ใช่เหี้ย แต่เป็นตะกวด หรือแลน เพราะดูจากเนื้อเรื่องแล้วผิดจากอุปนิสัยของเหี้ยซึ่งชอบหากินตามแหล่งน้ำหรือใกล้น้ำ ส่วนในเรื่องโคธชาดกอาศัยอยู่ในโพลงจอมปลวก แต่โดยมากจะถูกแปลว่า “เหี้ย” และให้ชื่อเรื่องว่า “ฤาษีกินเหี้ย” อาจจะเป็นเพราะว่าคนสมัยนั้นรู้จักเหี้ยมากกว่าตะกวด หรือยังไม่แยกแยะระหว่างเหี้ยกับตะกวด
โคธชาดก
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดตะกวด ครั้งนั้น ดาบสรูปหนึ่งได้อภิญญา ๕ มีตบะกล้า อาศัยปัจจันตคามตำบลหนึ่ง อยู่ ณ บรรณศาลาชายป่า พวกชาวบ้านช่วยกันบำรุงพระดาบสด้วยความเคารพ. พระโพธิสัตว์ก็ได้อยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ณ ที่สุดที่จงกรมของท่าน ก็แลเมื่ออยู่นั้น ได้ไปหาพระดาบสวันละ ๓ ครั้งทุกๆ วัน ฟังคำอันประกอบด้วยเหตุประกอบด้วยผลแล้ว ไหว้พระดาบสแล้วกลับไปสู่ที่อยู่ของตน.
ต่อมา พระดาบสก็อำลาพวกชาวบ้านหลีกไป ก็แลเมื่อพระดาบสผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและวัตรนั้นหลีกไปแล้ว มีดาบสโกงอื่นมาพำนักอยู่ในอาศรมบทนั้น พระโพธิสัตว์กำหนดว่า แม้ท่านผู้นี้ก็มีศีล จึงได้ไปสู่สำนักของเขาโดยนัยก่อนนั่นแล.
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเมฆตั้งขึ้นในสมัยใช่กาล ยังฝนให้ตกลงมาในฤดูแล้ง ฝูงแมลงเม่าพากันออกจากจอมปลวกทั้งหลาย ฝูงตะกวดก็พากันออกเที่ยวหากินแมลงเม่าเหล่านั้น พวกชาวบ้านก็พากันออกจับตะกวดที่กินแมลงเม่าได้เป็นอันมาก แล้วจัดทำเป็นเนื้อส้ม ปรุงด้วยเครื่องปรุงอันอร่อย ถวายพระดาบส.
ดาบสฉันเนื้อส้มแล้วติดใจในรส จึงถามว่า เนื้อนี้อร่อยยิ่งนัก เนื้อนั้นเป็นเนื้อของสัตว์ประเภทไหน? ครั้นได้ยินเขาบอกว่าเนื้อตะกวด ก็ดำริว่า ตะกวดตัวใหญ่มาในสำนักของเรา จักฆ่ามันกินเนื้อเสีย แล้วให้คนขนภาชนะสำหรับต้มแกงและวัตถุมีเนยใสและเกลือเป็นต้น วางไว้ข้างหนึ่ง ถือไม้ค้อนซ่อนไว้ด้วยผ้าห่ม คอยการมาของพระโพธิสัตว์ อยู่ที่ประตูบรรณศาลา นั่งวางท่าทำเป็นเหมือนสงบเสงี่ยม.
ในเวลาเย็น พระโพธิสัตว์คิดว่า เราจักไปหาดาบสแล้วออกเดิน ขณะที่กำลังเข้าไปใกล้นั่นเอง ได้เห็นข้อผิดแผกแห่งอินทรีย์ของเขา จึงคิดว่า ดาบสนี้มิได้นั่งด้วยท่าทางที่เคยนั่งในวันอื่นๆ แม้จะมองดูเราในวันนี้เล่า ก็ชำเลืองเป็นที่เคลือบแฝง ต้องคอยจับตาดูให้ดี ดังนี้.
พระโพธิสัตว์จึงไปยืนใต้ทิศทางลมของดาบส ได้กลิ่นเนื้อตะกวด จึงคิดว่า วันนี้ ดาบสโกงนี้คงฉันเนื้อตะกวด ติดใจในรสแล้ว คราวนี้มุ่งจะตีเราผู้เข้าไปหาด้วยไม้ค้อน แล้วเอาเนื้อไปต้มแกงกินเป็นแน่ ก็ไม่ยอมเข้าไปใกล้เขา ถอยกลับวิ่งไป.
ดาบสรู้ความที่พระโพธิสัตว์ไม่ยอมมา ก็คิดว่า ตะกวดตัวนี้คงจะรู้ตัวว่าเรามุ่งจะฆ่ามัน ด้วยเหตุนั้น จึงไม่เข้ามา แม้ถึงเมื่อมันจะไม่เข้ามา ก็ไม่พ้นมือไปได้ แล้วเอาไม้ค้อนออกขว้างไป ไม้ค้อนนั้นกระทบเพียงปลายหางของพระโพธิสัตว์เท่านั้น
พระโพธิสัตว์เข้าจอมปลวกไปโดยเร็ว โผล่ศีรษะออกมาทางช่องอื่น กล่าวว่า เหวยชฏิลเจ้าเล่ห์ เมื่อเราเข้าไปหาเจ้า ก็เข้าไปหาด้วยสำคัญว่าเป็นผู้มีศีล แต่เดี๋ยวนี้ความเจ้าเล่ห์ของเจ้า เรารู้เสียแล้ว มหาโจรอย่างเจ้า บวชไปทำไมกัน.
เมื่อจะติเตียนดาบส จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
“เหวยชฏิลปัญญาทราม เจ้ามุ่นชฎาทำไม นุ่งหนังเสือทำไม ข้างในของเจ้ารุงรัง เจ้ามัวขัดสีแต่ภายนอก” ดังนี้.
วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ยนอก)
วัดมงคลโคธาวาส ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อเดิมว่าวัดบางเหี้ยนอก เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำชื่อบางเหี้ยและเป็นสถานที่ที่มีเหี้ยอยู่จำนวนมาก ต่อมาจึงได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นวัดมงคลโคธาวาส ซึ่งโคธาศัพท์นี้มาจากชื่อวัดเก่านั่นเอง
ที่มา https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=138โคธชาดก
รูปภาพตะกวดจาก wikimedia.org โพสต์โดย Sanjay thankaraj เมื่อ 31 December 2014, 07:01:56