วันวิสาขบูชาอันเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา นั่นคือเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ซึ่งปี 2564 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันวิสาขบูชา ได้แก่
- ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
- ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
- เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
ในบทความนี้ ผมจักกล่าวถึงเหตุการณ์ในเช้าวันเสด็จดับขันธปรินิพานซึ่งเกิดขึ้นที่บ้านนายจุนทะ กัมมารบุตร เมืองปาวา อันเป็นที่มาของคำว่า สูกรมัททวะ พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระองค์
แต่ด้วยความรู้ความสามารถของผมนั้น ไม่อาจจะค้นคว้าในคัมภีร์ต้นฉบับมาวิเคราะห์ได้ จึงต้องอาศัยท่านผู้รู้ที่ได้ศึกษา วิเคราะห์ และทำการรวบรวมความคิดเห็นไว้ ซึ่งผมจะนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาแสดงที่นี้
ก่อนที่เข้าจะเรื่อง พึงทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน (ตาย) เพราะการเสวยพระกระยาหารหรือสูกรมัททวะ แต่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเนื่องด้วยการปลงพระทัยว่าจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ก่อนนั้นแล้ว 3 เดือนแล้วในวันเพ็ญเดือน 3 หมายความว่าพระองค์จักเสวยพระกระยาหารชนิดใดก็ตามหรือไม่เสวยก็ตาม พระองค์ก็จักเสด็จดับขันธปรินิพนานในวันนั้น
สูกรมัททวะ คืออะไร เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างอันเนื่องด้วยสูกรมัททวะ พระอรรถกถาจารย์ให้ความเห็นว่าอย่างไร ผมจักได้นำสรุปให้ท่านได้อ่าน
เนื้อความในมหาปรินิพพานสูตร
เนื้อความบางตอนที่เกี่ยวข้องกับสูกรมัททวะในมหาปรินิพพานสูตร ดังนี้
นายจุนทกัมมารบุตรให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสุกรมัททวะเป็นอันมากในนิเวศน์ของตน โดยล่วงราตรีนั้นไป ให้กราบทูลกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ“
ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตร ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า “ดูกรนายจุนทะ ท่านจงอังคาสเราด้วยสุกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้ จงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉัน อย่างอื่นที่ท่านตระเตรียมไว้” นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงอังคาสพระผู้มีพระภาคด้วยสุกรมัททวะที่ตนตระเตรียมไว้ อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่นที่ตนตระเตรียมไว้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า “ดูกรนายจุนทะ ท่านจงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสียในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ซึ่งบริโภคสุกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดีได้นอกจากตถาคต”
นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสียในหลุม แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคยังนายจุนทกัมมารบุตรผู้นั่งเรียบร้อยแล้วให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเสด็จหลีกไป ฯ มหาปรินิพพานสูตร
สูกรมัททวะตามความเห็นของพระอรรถกถาจารย์
พระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังชาวอินเดีย ท่านได้แสดงมติของท่านและรวบรวมมติของพระอาจารย์อื่น ๆ ไว้ในสุมังคลวิลาลินี ดังนี้
- สูกรมทฺทวนฺติ นาติตรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ แปลความว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่ ปวัตตมังสะของสุกรที่ได้เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มจนเกินไป และไม่แก่จนเกินไป (ข้อนี้น่าจะเป็นมติของพระพุทธโฆษาจารย์เอง แต่ท่านก็ไม่ยืนยันลงไป ท่านจึงได้กล่าวถึงมติของพระอาจารย์อื่น ๆ อีก ในหนังสือพุทธประวัติเล่ม 3 ที่ใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ใช้มตินี้จึงแปลสูกรมัททวะว่าเนื้อสุกรอ่อน)
- เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ แปลว่า แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า สูกรมัททวะ นี้ เป็นชื่อแห่งวิธีปรุงข้าวอ่อนเจือด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงให้เสร็จสำเร็จแล้ว ชื่อว่าควปานะ (มตินี้สูกรมัททวะก็คือข้าวที่หุงด้วยน้ำนมเบญจโครส เบญจโครส คือ นมโค 5 อย่าง คือ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น เปรียง)
- กจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนนิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ ฯ แต่อาจารย์บางท่านกล่าวอีกว่า รสายนวิธีชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตบแต่งรสายนวิธีด้วยหมายใจว่า พระผู้มีพระภาคอย่าเพิ่งปรินิพพานเสียเลย (มตินี้เชื่อว่าสูกรมัททวะเป็นยาปรุงชนิดหนึ่งที่ปรุงตามคัมภีร์รสายนศาสตร์ ซึ่งนายจุนทะทราบดีว่าพระพุทธเจ้าทรงพระประชวร จึงคิดว่าพระองค์จะทรงพระชนม์อยู่ได้อีกด้วยการเสวยพระโอสถนี้)
พระธรรมปาลจริยะ พระอรรถกถาจารย์อีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นชาวอินเดียเช่นกัน เป็นคนรุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์เล็กน้อย ท่านก็ให้มติไว้ในคัมภีร์ปรมัตถทีปนีเกี่ยวกับสูกรมัททวะ 4 ประการ ดังนี้
- สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทะสินิทฺธํ ปวตฺตมํสนฺติ มหาอฏฐกถายํ วุตฺตํ ฯ แปลความว่า ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถาว่า คำว่าสูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตมังสะ ของสุกรที่อ่อนนุ่มสนิทดี (มตินี้คล้ายมติของพระพุทธโฆษาจารย์ข้อแรก คือเป็นเนื้อหมู ปวัตตมังสะ คือเนื้อที่เขาไม่ได้ฆ่าเพื่อเจาะจงเพื่อตนหรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน โดยทั่วไปคือเนื้อที่มีขายตามตลาดทั่วไป)
- เกจิ ปน สูกรมทฺทวนฺติ น สูกรมํสํ สูกเรหิ มทฺทิตวํสกลีโรติ วทนฺติ ฯ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่า กล่าวว่า “ คำว่า สูกรมัททวะนั้น ไม่ใช่เนื้อสุกร หากเป็นหน่อไม้ที่สุกรชอบกิน” ( สูกรมัททวะ แปลอีกนัยว่า อ่อนสำหรับหมู คือเป็นของอ่อนสำหรับหมูที่หมูชอบกิน อาจจะเป็นอะไรก็ได้ แต่มตินี้บอกว่าเป็นหน่อไม้ชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน)
- อญฺเญ สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกนฺติ แปลความว่า อาจารย์บางเหล่ากล่าวอีกว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่ เห็ดที่เกิดในประเทศที่สุกรเหยียบย่ำ (มตินี้บอกว่าสูกรมัททวะเป็นเห็ดชนิดหนึ่ง น่าจะเป็นเห็ดที่หมูชอบกินหรืออย่างไรไม่ทราบ)
- อปเร ปน สุกรมทฺทวนามกํ รสายตนนฺติ ภณนฺติ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่าก็กล่าวอีกว่า ได้แก่เครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ที่ปรุงตามกรรมวิธีรสายนะ ชื่อว่าสูกรมัททวะ (มตินี้คล้ายมติข้อที่ 3 ในสุมังคลวิลาลินี คือเป็นยา)
สูกรมัททวะ ตามมติของคนรุ่นใหม่
อาจารย์รุ่นใหม่บางท่านให้ความเห็นว่า สูกรมัททวะน่าจะเป็นสิ่งพิเศษประเภทยา ซึ่งตรงกับมติข้อที่ 3 ในคัมภีร์สุมังคลวิลาลินี และคล้ายข้อที่ 4 ใน คัมภีร์ปรมัตถทีปนี ว่าด้วยสิ่งที่ปรุงตามกรรมวิธีรสายนะ ชื่อว่าสูกรมัททวะ ด้วยเหตุผลว่า
- สิ่งที่มีชื่อว่า สูกรมัททวะ ในพระไตรปิฎกปรากฏอยู่ในมหาปรินิพานสูตรและเฉพาะในเหตุการณ์ที่นายจุนทะถวายภัตตาหารเท่านั้น ไม่ปรากฏมีในพระสูตรอื่น จึงเข้าใจว่า สูกรมัททวะ ต้องเป็นสิ่งเฉพาะบุคคลที่ทำได้ หรือเพื่อเฉพาะบุคคลเท่านั้น
- นายจุนทะทราบดีว่าพระพุทธเจ้าทรงพระประชวร น่าจะคิดทำอะไรเป็นพิเศษเพื่อให้พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ต่อไปได้นาน
- นายจุนทะตระเตรียมของเคี้ยวของฉันและสูกรมัททวะทั้งคืน จะเห็นว่ามีการแยกสูกรมัททวะออกจากอาหารคือของเคี้ยวของฉันต่างหาก ฉะนั้น สูกรมัททวะจึงต้องเป็นของพิเศษ ของสำคัญ ใช้คนมาก มีความละเอียดปราณีต
- พระพุทธเจ้าให้นายจุนทะอังคาสสูกรมัททวะเฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่เหลือให้นำไปฝังดิน โดยตรัสว่า “เธอจงฝังสูกรมัททวะที่ยังเหลือในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งบริโภคสูกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดี นอกจากตถาคต” ถ้าเป็นอาหารทั่วไปประเภทเนื้อหมูอ่อน ข้าวหุงด้วยน้ำนมโค หน่อไม้ เห็ด ย่อมควรแก่ทุกคน เป็นของย่อยง่ายสำหรับทุกคน
- ฝ่ายมหายาน กล่าวว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งเกิดที่ต้นไม้จันทร์ เป็นเห็ดพิเศษ ไม่ได้เกิดบนภูมิภาคทั่ว ๆ ไป ข้อนี้ก็ไม่แปลกที่มหายานจะแปลอย่างนั้น เพราะฝ่ายมหายานทานอาหารเจเป็นนิตย์อยู่แล้ว และก็ไม่ขัดกับข้อที่ว่าสูกรมัททวะน่าจะเป็นอาหารประเภทยา ซึ่งอาจจะเป็นยาที่มีส่วนผสมของเห็ดก็ได้
- บางท่านแสดงความคิดเห็นว่า อาจจะเป็นเนื้อหมูที่บูด แม้พระพุทธเจ้าทรงทราบดี แต่ทรงรับอังคาสเพื่อฉลองศรัทธานายจุนทะ ข้อนี้ไม่น่าจะใช่ เพราะนายจุนทะเป็นถึงบุตรของนายช่างทอง หรือนายจุนทะก็อาจจะเป็นช่างทองด้วย เป็นคนมีฐานะจึงไม่น่านำเนื้อที่บูดมาถวายพระ มีการใช้คนตระเตรียมอาหารหลายคน ถ้าอาหารบูดต้องมีคนรู้บ้างล่ะ
- บางท่านแสดงความคิดเห็นว่าไม่ใช่ยา เพราะนายจุนทะกราบทูลพระพุทธเจ้า ด้วยคำว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ” ก็เป็นไปได้ที่จะเป็นอาหารกึ่งยาปรุงเฉพาะ คือไม่ใช่ยาสมุนไพรที่เป็นน้ำล้วน ๆ หรือยาลูกกลอนสมุนไพร แต่อาจจะเป็นเห็ดหรือพืชอะไรสักอย่างที่ปรุงเป็นอาหารและยาได้ในตัวและเหมาะแก่การฉันในกาล ไม่เหมาะในเวลาวิกาลเท่านั้น อีกประการหนึ่งพระพุทธเจ้าเองก็อาจจะเสวยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่นด้วยแล้วจึงเสวยสูกรมัททวะที่เป็นยา
- สูกรมัทวะเป็นยาที่ปรุงเฉพาะเจาะจงพระพุทธเจ้าที่ทรงพระประชวร ไม่เหมาะกับพระภิกษุรูปอื่นผู้ไม่อาพาธ ตำรายาโบราณนั้นเขามีน้ำหนัก คูณธาตหนักเบา ไม่ใช่ยาหม้อหนึ่งรักษาได้ทุกคน หม้อยาหม้อนั้นคนนั้นกินหาย อีกคนกินตาย ยาหม้อเดียวกันนั่นแหละ ตัวสมุนไพรกับคุณธาตุหนักเบานั่นมันแล้วแต่ใคร ธาตุใครธาตุมัน ต้องเอามาบวกลบคูณหารกันเข้า แล้วจึงวางยาหนักเบาไปตามสมุฏฐาน ด้วยเหตุนั้น สูกรมัททวะจึงเหมาะกับพระพุทธเจ้าที่ทรงพระประชวรเท่านั้น ไม่เหมาะกับคนอื่น พระพุทธเจ้าให้นำส่วนที่เหลือไปฝังดินเสีย เพราะเกรงว่าคนอื่นเห็นเข้าแล้วคิดว่าเป็นของดีของมงคลกินเข้าไปอาจจะเป็นอันตราย จากไม่เป็นโรคอาจจะเป็นโรค หรือที่เป็นโรคอยู่แต่ยาไม่ถูกโรคอาจจะตายได้
- ถ้าเป็นยา ไม่ใช่อาหาร ทำไมเรียกว่าสูกรมัททวะ มีคำว่าหมูด้วย อันนี้อาจจะเรียกตามตำรา หรือนายจุนทะอาจจะตั้งชื่อเองก็ได้ เพราะไม่ปรากฏชื่อยานี้ในที่อื่น การที่จะเรียกชื่อยาแปลก ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อย่างตำรายาไทยก็มีชื่อแปลก ๆ เช่น ยาจตุรพักตร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายามีสี่หน้า ต้นน้ำนมราชสีห์ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปบีบน้ำนมเอามาเต้านมจากราชสีห์ ต้นเสลดพังพอนก็ไม่เกี่ยวกับเสลดและพังพอนเลย หรือชื่ออาหารไทยบางอย่างก็แปลก ๆ ลาบน้ำตก ก็ไม่ได้เกี่ยวกับน้ำตกบนภูเขา เสือร้องไห้ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับเสือเลย
- บางท่านอาจจะแย้งว่า ถ้าสูกรมัททวะเป็นยาแล้วทำไมพระองค์ทรงพระประชวรหนัก เรื่องนี้อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ให้ความเห็นว่าท่านไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงพระประชวรอย่างหนักเพราะเสวยสูกรมัททวะ เพราะไม่ได้กล่าวไว้ในพระสูตรโดยตรง แต่กลับไปบอกในคาถาที่พระสังคีติกาจารย์ท่านประพันธ์เอาไว้ ในที่นั้นแหละ เป็นมติของพระสังคีติกาจารย์ ไม่ใช่เนื้อความในบาลีสูตร เป็นเนื้อความที่พระสังคีติกาจารย์ร้อยกรองเข้ามาที่หลัง สอดแทรกอยู่ในมหาปรินิพพานสูตรว่า พระศาสดาได้ฉันสูกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว อาพาธกำเริบแล้ว ได้เกิดขึ้น ลงพระโลหิต ประชวรด้วยปักขันทิกาพาธแล้วไปดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา….โรคกำเริบขึ้นตามอายุขัยของพระองค์ โรคกำเริบขึ้นตามอาการของโรคจะเป็น ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ สูกรมัททวะนี่เอง กลับเป็นคุณแก่พระองค์ ทำให้พระองค์มีกำลังพระวรกาย สามารถเสด็จดำเนินไปดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินาราได้….ด้วยเหตุนี้กระมั้ง พระพุทธองค์จึงได้ตรัสแสดงถึงอานิสงส์ของบิณฑบาต 2 คราวที่มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่น ๆ ยิ่งนัก คือ บิณฑบาตที่พระองค์เสวยแล้วได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณและบิณฑบาตที่พระองค์เสวยแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ที่มา ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ เสถียร โพธินันทะ
หมายเหตุ
- บทความนี้ ผมใช้คำว่า สูกรมัททวะ ตามศัพท์เดิม แต่ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงใช้คำว่า สุกรมัททวะ ซึ่งเป็นศัพท์แปลใช้ตามภาษาไทย
- พระไตรปิฎกฉบับหลวง ให้ความหมายสุกรมัททวะว่า “เป็นชื่ออาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งปรุงด้วยเห็ดอย่างหนึ่งซึ่งเห็ดชนิดนั้นหมูชอบกิน”
- พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ให้เชิงอรรถสูกรมัททวะไว้ดังนี้
สูกรมัททวะ ความหมายตามมติของเกจิอาจารย์ ๓ พวก คือ
๑. หมายถึงปวัตตมังสะ เนื้อสุกรหนุ่ม
๒. หมายถึงข้าวสุกอ่อน ที่ปรุงด้วยนมสด นมส้ม เนยใส เปรียง เนยแข็ง และถั่ว
๓. หมายถึงวิธีปรุงอาหารชนิดหนึ่ง