เพื่อนคนหนึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า เขาเคยนำเขี้ยวเสือแกะเลี่ยมทองโชว์ในกลุ่มไลน์ มีเซียนใหญ่คนหนึ่งเข้ามาสอบถามราคา
เซียนพระ : เขี้ยวเสือ เลี่ยมทองเท่าไหร่ครับ
เพื่อน : 6,500 บาท ครับ
เซียนพระ : ของเก๊ครับ ของสนาม มีมานานแล้ว
เพื่อน : เก๊ยังไงครับ นี่เขาเรียกว่าอะไร ?
เซียนพระ : เขี้ยวเสือ แกะเสือครับ
เพื่อน : ในเมื่อเขี้ยวเสือ แกะเสือ จะเก๊ยังไง มันก็คือเขี้ยวเสือ ต้องให้มันกระโดดออกมากัดคอคุณหรือไงจึงเรียกว่าแท้
เซียนพระ : ไม่ใช่เสือหลวงพ่อปานครับ
เพื่อน : ผมบอกคุณหรือไงว่าเป็นเสือหลวงพ่อปาน ผมบอกแค่เขี้ยวเสือแกะ
เซียนพระ : เอ่อ ใช่ ผมขอโทษ คุณไม่ได้บอกไว้
เพื่อน : มนุษย์เราใช้เขี้ยวเสือเป็นเครื่องรางมานับพันนับหมื่นปีแล้ว สังเกตได้จากการขุดค้นอารยธรรมบ้านเชียงหรือที่อื่นยุคหิน ดินเผาจะมีเขี้ยงเสือเป็นเครื่องรางอยู่ด้วย อ่านเขี้ยวเสือไห เครื่องรางยุคโบราณ
แต่ยุคนั้นเขาอาจจะยังไม่นิยมแกะ ยุคต่อมาจนถึงทุกวันนี้มีการนำเขี้ยวหรืองามาแกะเป็นสัตว์หรือรูปลักษณ์ต่าง
- ไม่ใช่แต่หลวงพ่อปานเท่านั้นที่ชื่นชอบเขี้ยวเสือ พระเกจิรูปอื่นท่านก็ชื่นชอบเขี้ยวเหมือนกัน
- ไม่ใช่แต่หลวงพ่อปานเท่านั้นที่แกะเขี้ยวเสือเป็น พระเกจิอื่น ๆ ก็แกะเขี้ยวเสือเป็นเหมือนกัน
- ไม่ใช่แต่หลวงพ่อปานเท่านั้นที่เสกเขี้ยวเสือเป็น พระเกจิอื่น ๆ ท่านก็เสกเขี้ยวเสือ จารเขี้ยวเสือเป็นเหมือนกัน หรือคุณคิดว่าต้องหลวงพ่อปานเท่านั้นจึงเสกขลัง ถ้างั้นลองพิสูจน์กันไหม ลองเอาเขี้ยวเสือที่คุณคิดว่าต้องอาจารย์นี้เท่านั้นเสกจึงขลังมายิงพิสูจน์ดูไหม หรือพิสูจน์แบบอื่นก็ได้ เช่นนำเขี้ยวเสือโยนลงน้ำ แล้วนำเนื้อหมูมาล่อ เสือเสกนั้นจะลอยมากินเนื้อหมูไหม
- หลวงพ่อปานเองท่านก็ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ไว้ และไม่ได้พูดไว้ว่า “ต้องเขี้ยวเสือของข้าเท่านั้นจึงจะแท้ ของพระเกจิอื่นเก๊หมด”
ฉะนั้น คุณเป็นถึงเซียนพระ คุณควรเคารพพระเกจิอาจารย์อื่นบ้าง แม้พระเกจินั้น ๆ จะไม่ได้ทำให้คุณได้เงินเลี้ยงลูกเมียหรือมีเงินเหล้าก็ตาม ผมก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ผมขายในฐานะเขี้ยวเสือแกะ ไม่ได้ขายในฐานะเป็นเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ไม่ได้ขายในราคาเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน เหมือนคน ๆ หนึ่ง ขายตลับทองเหลือง คนขายก็บอกอยู่ว่าทองเหลือง ขายในราคาทองเหลือง แล้วคุณจะมาชี้บอกว่าเขาขายของเก๊ไม่ใช่ทองคำแบบนี้ถูกหรือ ควรพูดไหม