เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....
มีศัพท์หนึ่งที่ใช้วงการพระเครื่องที่ผมเขียนตามความนิยมของรุ่นพี่ นั่นคือคำว่า “นกสาริกา” “ตะกรุดสาริกา” คือเขียนโดยใช้ ร เรือ แต่เป็นการใจผิดมาตลอด ซึ่งการเขียนที่ถูกต้องนั้นคือต้องเขียนเป็น “นกสาลิกา” “ตะกรุดสาลิกา” คือใช้ตัว ล ลิง
สำหรับผมเข้าใจผิดยอมรับว่าผิด เขียนผิดยอมรับว่าเขียนผิด และพร้อมที่จะปรับปรุงต่อไป ส่วนท่านอื่น ๆ จะยอมรับว่าตนเองเขียนผิดไหม จะยอมโง่ไหม จะยอมปรับปรุงตนเองไหม หรืออ้างว่าเขียนมานานแล้ว เป็นที่เข้าใจกันแล้ว หรือวงการพระเครื่องยอมรับกันแล้วก็แล้วแต่ท่านครับ
ความหมายของคำว่า “สาลิกา“
คำว่า “สาลิกา” มี 2 ความหมาย ได้แก่
- สาลิกา ความหมายที่ 1 หมายถึงนก ซึ่งก็แยกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ชื่อนกขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ ในวงศ์ย่อย Corvinae ในวงศ์ Corvidae ปากสีแดง มีแถบสีดำคาดตา ตัวสีเขียว ขนปลายปีกสีน้ำตาล ทำรังแบบง่าย ๆ ด้วยกิ่งไม้บนต้นไม้ กินผลไม้และสัตว์ขนาดเล็ก ในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ สาลิกาเขียว [Cissa chinensis (Boddaert)] และสาลิกาเขียวหางสั้น (C. hypoleuca Salvadori & Giglioli) พบทางตะวันออก
2. ชื่อนกขนาดเล็กชนิด Acridotheres tristis (Linn.) ในวงศ์ Sturnidae หัวสีดำ วงรอบเบ้าตาและปากสีเหลือง ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม มีแต้มขาวที่ปีก ปลายหางสีขาว ทำรังแบบง่าย ๆ ด้วยกิ่งไม้ตามโพรงไม้ ง่ามไม้ หรือซอกอาคาร กินแมลงและผลไม้ พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย, เอี้ยง หรือ เอี้ยงสาลิกา ก็เรียก
ในวงการพระเครื่อง มีเครื่องรางที่ทำเป็นรูปนกที่สร้างจากไม้บ้าง สีผึ้งบ้าง เขาสัตว์บ้าง เรียกว่า “นกสาลิกา” แต่วงการพระเครื่องมักเขียนเป็น “นกสาริกา” ซึ่งไม่ถูกต้อง - สาลิกา ความหมายที่ 2 ชื่อตะกรุดดอกเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง ใช้ในทางเมตตามหานิยม
ที่มา : th.wiktionary.org
เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....