ในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษามีประเพณีที่สำคัญอยู่ ๒ ประเพณี ได้แก่ ประเพณีถวายเทียนพรรษาและประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาในวัด
ประเพณีการเทียนพรรษานั้น เนื่องจากว่าในสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านเองก็ไม่มีใช้เช่นเดียว แต่ชาวบ้านสามารถหาขี้ผึ้งมาทำเทียนให้แสงสว่างเองไดั แต่พระสงฆ์ไม่มีความสะดวกในการหาขี้ผึ้งมาทำเทียน ชาวบ้านจึงช่วยกันหาขี้ผึ้งมารวมกันแล้วช่วยกันหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น (กี่ต้นก็ไดั) เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อที่จะให้ท่านได้จุดให้เกิดแสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ ภายในวัด และยังได้ถวายเพื่อจุดเป็นพุทธบูชาตลอดเวลา ๓ เดือนที่พระได้ทำการจำพรรษาอยู่ในวัด ในการนำเทียนไปถวายที่วัดนั้น มักจะเป็นงานใหญ่ เพื่อที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันในกิจกรรมนี้ ชาวบ้านจึงมักจะจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนาน และมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา
เราควรถวายเทียนพรรษาในโอกาสใด
เราทุกคนควรมีส่วนร่วมในการถวายเทียนพรรษาในวัดประจำหมู่บ้าน หรือวัดใกล้บ้าน วัดที่เราให้ความเคารพนับถือ ซึ่งในแต่ละวัดอาจจะกำหนดประเพณีถวายเทียนพรรษาไม่ตรงกัน แต่โดยมากถวายในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๘ ซึ่งตรงกับวันพระใหญ่วันอาสาฬหบูชา แต่เราจะนำเทียนพรรษาไปถวายเป็นการส่วนตัวในครอบครัวของเราเองก็ไดั ซึ่งแต่ละวัดไม่มีข้อจำกัดในการเทียนพรรษา
ขั้นตอนการถวายเทียนพรรษา
- ถ้าไปเป็นคณะหรือกลุ่มจำนวนมาก เช่น ทางโรงรียนจัดกิจกรรมนำเด็กนักเรียนทั้งหมดไปถวายเทียนพรรษาที่วัด แบบนี้ต้องแจ้งให้ทางวัดทราบล่วงหน้าก่อน ทางวัดจะได้จัดเตรียมสถานที่ให้พอกับจำนวนคน และนัดวันเวลาที่จะทำการถวายเทียนพรรษา
- ถ้าไปกับครอบครัวไปกี่คน อาจจะไปถวายที่วัดเลยก็ได้ เมื่อไปถึงแจ้งให้ทางวัดทราบเพื่อทำการถวายเทียนพรรษา
- ถ้าวัดนั้น ๆ กำหนดวันถวายเทียนพรรษาอย่างชัดเจนแล่ว เราก็ไปร่วมงานตามวันและเวลาที่ทางวัดได้กำหนดไว้
ส่วนขั้นตอนการถวายเทียนพรรษานั้น ก็เหมือนกับขั้นตอนการถวายผ้าอาบน้ำฝน
คำถวายเทียนพรรษา
ยัค เฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง ปะทีปะยุคัง สะปะริวารัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสมิง อุโปสะถาคาเร นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต อะยัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะทีปะยุคัสสะ ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอมอบถวาย เทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวารไว้ ณ พระอุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษานี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ ฯ
อานิสงส์การถวายเทียนพรรษา
การถวายเทียนพรรษานั้นเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งทายกทายิกาได้ทำสืบ ๆ ต่อก้นมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เมื่อถึงเทศกาลวันเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสตลอด ๓ เดือน พุทธศาสนิกชนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย จึงได้จัดบุญพิธีขึ้นโดยการนำเทียนไปถวายพระสงฆ์เพื่อให้ท่านได้จุดบูชาพระประธานในอุโบสถหรือวิหาร เชื่อว่าผู้ถวายย่อมได้รับบุญและอานิสงส์ ดังต่อไปนี้
๑. ทำให้เกิดสติปัญญา ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า มีปัญญาเปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
๒. ทำให้เกิดความสว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายเองย่อมได้รับความรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ
๓. ทำให้ปัญหาคลี่คลายลงได้ กลับร้ายกลายเป็นดีได้
๔. เป็นผู้เจริญไปด้วยมิตรบริวารมากมาย
๕. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
๖. เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ถ้าได้เกิดเป็นเทวดาย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสวรุ่งเรือง ถ้าเกิดบนโลกมนุษย์ผิวพรรณย่อมผ่องใส
๗. เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมไปสู่สุคติสวรรค์
๘. หากบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ บรรลุเป็นพระอรหันต์ มีทิพจักขุญาณ