ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ อุบาสกอุบาสิกาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนิยมที่จะทำบุญ จนมีบางท่านได้เขียนหนังสือว่า “เข้าพรรษา เวลาบุญ” โดยเฉพาะในวันเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนอุบาสกอุบาสิกานิยมถวายผ้าอาบน้ำฝนกัน
ความหมายของผ้าอาบน้ำฝน
ผ้าอาบน้ำฝน คือ ผ้าที่พระสงฆ์ใช้เวลาสรงน้ำ เรียกตามพรพะวินัยว่า ผ้าวัสสิกสาฎกผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้ได้เป็นผืนที่ ๔ นอกเหนือจากไตรจีวร ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับถวายได้ก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน
ผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าที่ถวายกันก่อนเข้าฤดูฝนหรือช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งมีนางวิสาขาเป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ และกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
ผ้าอาบน้ำฝน ไม่ใช่ผ้าจำนำพรรษา ส่วนผ้าจำนำพรรษานั้น ถวายหลังจากพระได้ทำการจำพรรษาเรียบแล้ว คือออกพรรษาแล้วและไม่ใช่ผ้ากฐิน
ความเป็นมาของการถวายผ้าอาบน้ำฝน
นางวิสาขามหาอุบาสิกา จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์มาเสวยและฉันภัตตาหารที่บ้านของนางเป็นประจำ เมื่อนางจัดเตรียมภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งสาวใช้คนสนิทไปกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ให้ทรงทราบ และเสด็จไปยังบ้านของตน
ในวันหนึ่ง สาวใช้ได้มาตามปกติเหมือนวันก่อน ๆ ที่ผ่าน แต่วันนี้เกิดฝนตกลงมาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ต่างก็พากันเปลือยกายอาบน้ำฝนกัน เมื่อสาวใช้มาเห็นเข้าก็ตกใจเพราะความที่ตนไม่รู้ จึงคิดว่าเป็นนักบวชชีเปลือย จึงรีบกลับมาแจ้งแก่นางวิสาขาว่า”ท่านแม่ วันนี้ที่วัดไม่มีพระภิกษุอยู่เลย มีแต่ชีเปลือยแก้ผ้าอาบน้ำกันอยู่เต็มวัด”
เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ฟังคำบอกเล่าของสาวนั้นใช้แล้ว ด้วยความที่นางเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน ผูัมีปัญญา เป็นมหาอุบาสิกา มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นผู้มีความใกล้ชิดและรู้จักพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างดี และทราบว่าพระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าสำหรับใช้สอยเพียง ๓ ผืนเท่านั้น คือ ผ้าจีวรสำหรับห่ม ผ้าสังฆาฎิสำหรับห่มซ้อน และผ้าสบงสำหรับนุ่ง ดังนั้น เมื่อเวลาพระภิกษุงฆ์จะอาบน้ำจึงไม่มีผ้าสำหรับผลัดนุ่งอาบน้ำ จึงจำเป็นต้องเปลือยกายอาบน้ำฝน
เพราะความที่นางเป็นผู้ฉลาด มีปัญญามาก นางวิสาขาจึงได้อาศัยเหตุนี้ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงได้เข้าไปกราบทูลขอพร เพื่อขอโอกาสในการถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย พระบรมศาสดาทรงประทานอนุญาต ตามที่นางขอนั้น นางวิสาขาจึงถือว่าเป็นผู้ต้นคิดและเป็นบุคคลแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ทำให้เหล่าอุบาสกอุบาสิกาได้ปฏิบัติตามมานถึงทุกวันนี้
เราควรถวายผ้าอาบน่ำฝนในโอกาสใด
เราสามารถถวายผ้าอาบน้ำฝนได้ ภายในระยะเวลา ๑ เดือนก่อนวันเข้าพรรษา คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ จนถึงวันขึ้น ๑๕ เดือน ๘ แต่โดยมากนิยมถวายในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ซี่งเป็นวันอาสาฬหบูชา วันถัดไปคือวันเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ก็จะได้ทำการอธิษฐานใช้
ส่วนสีของผ้าอาบน้ำฝนนั้น จะเป็นสีขาวก็ได้ แต่พระท่านจะต้องไปย้อมก่อนใช้ แต่ถ้าเราจะย้อมให้เรียบร้อย ก็ย้อมสีคล้ายผ้าจีวรที่พระท่านนุ่งห่มอยู่ในวัดนั้น ๆ ก็ได้ หรือจะใช้ผ้าอาบน้ำฝนที่ทางร้านจัดไว้สำหรับขายก็ไดั แต่ทางวัดป่าสายธรรมยุต นิยมผ้าอาบน้ำฝนที่ย้อมด้วยดิน ซึ่งจะออกสีแดงเหมือนสีดินลูกรัง
ขั้นตอนการถวายผ้าอาบน้ำฝน
๑. พุทธศาสนิกชนทายก ทายิกา พร้อมกันในโรงอุโบสถหรือในศาลาการเปรียญแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วแต่เหมาะสมของวัดนั้น ๆ
๒. นำผ้าอาบน้ำฝนที่จะถวาย ตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าต่อหน้าพระสงฆ์ ทายกนำกราบพระรัตนตรัยสมาทานศีล ว่านะโมพร้อมกัน ๓ จบ เพื่อกล่าวคำถวายผ้าอาบน้ำฝน
๓. ในระหว่างทายกกล่าวคำถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้น พระสงฆ์ทั้งหมดประนมมือ เมื่อจบคำถวายผ้าอาบน้ำฝนแล้ว พระสงฆ์ทั้งหมดรับ “สาธุ” พร้อมกัน
๔. ทายกทายิกาประเคนผ้าอาบน้ำฝนเสร็จแล้ว พระสงฆ์กล่าวคำอนุโมทนา
๕. ระหว่างพระว่า “ยถา…” ทายกทายิกาทั้งหมดพึงกรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรไปจนจบเป็นอันเสร็จพิธี
คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ
อานิสงส์ของการถวายผ้าอาบน้ำฝน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “บุคคลใดมีศรัทธาถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงส์ในพระพุทธศาสนาจะมีอานิสงส์เป็นอเนกประการ” จากนั้นพระองค์จึงนำเอาอนีตนิทานมาแสดงต่อนางวิสาขาและบริวารว่า
ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสมเด็จพระวิปัสสี มีหญิงยาจกคนหนึ่ง ชื่อว่า อมัยทาสี อยู่มาวันหนึ่ง นางเห็นคนทั้งหลายนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายก็อยากจะทำบุญบ้าง แต่ว่าตัวเองเป็นคนยากจนไม่มีผ้าไปถวาย พลางคิดว่าสาเหตุที่เรายากจน คงเป็นเพราะชาติก่อนไม่เคยทำบุญไว้เป็นแน่ เมื่อมองหาสิ่งอื่นที่จะนำไปเป็นผ้าถวายได้ นางจึงตัดสินใจนำใบไม้ปกปิดร่างกายแล้วถอดเสื้อผ้าที่ตัวเองนุ่งห่มอยู่ไปถวายเป็นผ้าอาบน้ำฝน แล้วตั้งความปรารภนาว่า โวยอานิสงส์ที่ทำบุญในครั้งนี้ขึ้นชื่อว่าความยากจนทั้งหลาย อย่าได้บังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าเลยในทุกภพทุกชาติ ในอนาคตกาลของให้ได้ไปเกิดทันศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย
ด้วยอานิสงส์ของการทำบุญ หลังจากนั้นอีก 7 วัน พระเจ้าพันธุมหาราชกษัตริย์ผู้ครองเมือง ได้เสด็จไปพบนางในขณะนางกำลังหาบฟืนมาในระหว่างทาง จึงเกิดความรักในตัวนางเป็นอย่างมาก จึงนำนางขึ้นรถกลับไปสู่พระนคร อภิเษกนางให้อยู่ในตำแหน่งอัครมเหสีอยู่ต่อมา ครั้นเมื่อนางสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดบนสวรรค์เสวยทิพยสมบัติ พระองค์ได้ทรงพยากรต่อไปว่าในชาติสุดท้ายนางจะได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรยและได้บรรลุธรรมพิเศษตามที่ปรารถนา