หนุ่มสาวออฟฟิศที่มักนั่งทำงานเป็นเวลานาน ต่อให้เราดูแลสุขภาพร่างกายดิบดีขนาดไหน แต่หากเรานั่งผิดท่าผิดทางก็ย่อมเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้เช่นกันนะคะ ยิ่งโดยเฉพาะอาการปวดหลัง ว่าแต่อาการปวดหลังในกลุ่มคนเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้างและจะมีวิธีการรับมืออย่างไร เรามาดูกันเลยค่ะ
สำหรับอาการปวดหลังในปัจจุบันกลายเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่นั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงในวัยผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดหลังก็มาจากพฤติกรรมในการนั่งเป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานออฟฟิศจะพบได้มากกว่าในวัยอื่นๆ การนั่งที่ผิดท่า ส่งผลให้กระดูกสันหลังรับแรงและเกิดการกดทับมากขึ้น ร่วมกับภาวะตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับร่างกายทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว ส่งผลให้อาการปวดหลังแสดงอาการที่ชัดเจนมากขึ้นตามมา
ลักษณะของอาการปวดหลังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1.อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน เป็นอาการปวดขึ้นมาแบบกะทันหัน อาการจะคงอยู่ไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนมากจะปวดบริเวณกลางหลังด้านล่าง อาจจะมีอาการปวดรุนแรงทันที หรือค่อยๆแสดงอาการออกมา อาการปวดสามารถปวดได้ตลอดเวลาหรือปวดเฉพาะเวลาที่มีการเคลื่อนตัวในบางท่าทาง โดยเฉพาะในช่วงของการไอ จาม หรือพลิกตัวกะทันหัน อาจจะส่งผลให้กระดูกบริเวณหลังได้รับแรงกระทบเทือน ทำให้เกิดอาการปวดกำเริบขึ้นมาเป็นระยะๆ ได้ อาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นสามารถเป็นได้โดยที่ผู้ป่วยยังคงมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี การรักษาจะต้องพยายามหาสาเหตุและคอยสังเกตว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นมาจากอะไร และพยายามหาทางแก้ไข ซึ่งส่วนมากก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั่นเองที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อขึ้น
2.อาการปวดหลังแบบเรื้อรัง
อาการปวดหลังเรื้อรังมักเกิดขึ้นมากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งมักจะมีอาการร่วมกับอาการชา แขนขาอ่อนแรง หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย หากมีอาการปวดหลังในลักษณะนี้ไม่ควรนิ่งนอนใจ และรับเข้ารับการตรวจรักษาโดยแพทย์จะดีที่สุด เนื่องจากการปวดแบบนี้อาจจะมาจากความผิดปกติอื่นๆ ภายในที่เราไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดอยู่ด้วย
สำหรับการป้องกันและดูแลตนเองเบื้องต้นของผู้ป่วย ควรที่จะมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหักโหมหรือรุนแรงกับหลังมากจนเกินไป จะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงมากขึ้นและช่วยทุเลาอาการปวดให้เบาบางลงไปได้บ้าง รวมไปถึงควรหลีกเลี่ยงท่านั่งที่ทำให้หลังเสียสมดุล มีการเปลี่ยนอิริยาบถบ้างทุกๆ ชั่วโมง เพื่อให้หลังได้เกิดการยืดหยุ่นและผ่อนคลายบ้างเป็นครั้งคราว