พระคาถามหาจักรพรรดิ
นะโม พุทธายะ
พระพุทธะไตรรัตนญาณ
มณีนพรัตน์
สีสะหัสสะ สุธรรมา
พุทโธ ธัมโม สังโฆ
ยะ ธา พุท โม นะ
พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา
อัคคีทานัง วะรังคันธัง
สีวะลี จะ มะหาเถรัง
อะหัง วันทามิ ทูระโต
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิ สัพพะโส
พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ
ความหมายศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถามหาจักรพรรดิ
นะโม พุทธายะ
นะโม แปลว่า นอบน้อม พุทธายะ แปลว่า ต่อพระพุทธเจ้า แปลรวมกันว่า ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าในที่นี้ หมายถึงพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่เกิดร่วมกันในภัทรกัปนี้ ได้แก่ พระกกุสันธะ (นะ) พระโกนาคมนะ (โม) พระกัสสปะ (พุท) พระสมณโคดม (ธา) พระศรีอริยเมตไตรย (ยะ)
พระพุทธะไตรรัตนญาณ
หมายถึง ญาณความรู้อันเป็นประเสริฐดุจแก้วอันประเสริฐ ๓ ประการของพระพุทธเจ้า ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงญาณ ๓ ประการ ที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ในวันตรัสรู้ ได้แก่
บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เกิดในอดีตได้ คือ การระลึกชาติของตนได้
จุตูปปาตญาณ ความรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์โลกได้ เรียกว่า ทิพพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ บ้าง
อาสวักขยญาณ ความรู้ในการกำจัดอาสวะให้สิ้นไป
มณีนพรัตน์
มณีนพรัตน์ หมายถึง สมบัติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ประการ ได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว มณีแก้ว
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงธรรมที่ประเสริฐดั่งแก้วมณี ๙ ประการ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ประการ ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตมรรค พระอรหัตผล และพระนิพพาน ซึ่งโลกุตรธรรมทั้ง ๙ นี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นยอดแห่งอริยทรัพย์ประเสริฐกว่าทรัพย์สมบัติทั้งปวง เพราะเป็นทรัพย์ที่ทำให้ผู้ครอบครองพ้นทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
สีสะหัสสะ สุธรรมา
มาจากคำ ๓ คำ
สี : สิริมงคล ความดีงาม
สะหัสสะ : ๑ พัน (ในที่นี้ใช้ความหมายแสดงถึงจำนวนที่มาก)
สุธรรมา : พระธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ทั้งหมด ซึ่งมีความหลากลึกหลายนัยเป็นพัน ๆ (๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) และธรรมนั้นย่อมยังความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติใน ๓ โลกธาตุ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ)
พุทโธ ธัมโม สังโฆ
หมายถึง พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า
ยะ ธา พุท โม นะ
มาจากคำว่า นะโมพุทธายะ แต่ไล่ย้อนกลับ (ปฏิโลม) โดยเอา ยะ มาขึ้นไว้ข้างหน้า หมายถึง กำลังของพระศรีอริยเมตไตรยที่จะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา
หมายถึง การน้อมบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า
อัคคีทานัง วะรังคันธัง
หมายถึง กลิ่นแห่งความดีงาม จงฟุ้งขจรขจายไปประดุจการจุดไฟให้โชติช่วง
(ข้อนี้ สำหรับผม น่าจะหมายถึงการถวายแสงไฟ (และ) ของหอมอันประเสริฐ : คือการบูชาด้วยการจุดเทียนและธูปหอมนั่นเอง)
สีวะลี จะ มะหาเถรัง
หมายถึง บารมีของพระสีวลีเถระ พระอรหันตสาวกผู้ประทานโชคลาภความร่ำรวย ทรัพย์สินเงินทอง ความสำเร็จในธุรกิจการงาน การค้าขาย ครอบคลุมทั้งหมด
อะหัง วันทามิ ทูระโต
แปลว่า ข้าพเจ้าขอกราบไหว้สิ่งที่ควรบูชาในพระพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่ทั้งใกล้และไกล
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
แปลว่า ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุทั้งหมดทั้งมวล
อะหัง วันทามิ สัพพะโส
แปลว่า ข้าพเจ้าขอกราบไหว้สังเวชนียสถาน พระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งหมดในที่ทุกสถานไม่มียกเว้น
พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ
แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า
ที่มา : หนังสือ พระคาถามหาจักรพรรดิ ๑๐๘ จบ
ความหมายศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถามหาจักรพรรดินี้ แต่ละท่าน แต่ะลที่มาก็สื่อความหมายไม่เหมือนกันนัก