พระพุทธนั่ง วรรณะออกดำองค์นี้ เดิมทีผมก็ไม่ทราบว่าเป็นพระที่ไหน รู้แต่ว่าเป็นพระเก่า พระกรุใดกรุหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่ากรุไหน เรียกว่าพระพิมพ์อะไร จนผมมาเจอบทความของคุณราม วัชรประดิษฐ์ ซึ่งท่านได้ให้ข้อมูลประมาณว่า (ผมเปลี่ยนสำนวนนิดหน่อย)
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เป็นพระสำคัญแห่งเมืองศรีสัชนาลัย มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง โดยเฉพาะที่เรียกว่า พระอู่ทองหน้าแก่ เป็นพระที่มีอายุเก่าแก่ในยุคต้นกำเนิดของประเทศไทยคืออยู่ในช่วงต้นอยุธยา ด้านหลังปรากฏเป็นหลังร่องคล้าย ‘ลิ่ม’ จึงเรียกตามลักษณะที่ปรากฏนั้นนำมาตั้งพระนามองค์พระ พระร่วงนั่งหลังลิ่ม นับเป็นพระร่วงเนื้อชินหนึ่งในพระยอดขุนพลที่ได้รับการแสวงหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นวัดสำคัญตั้งแต่สมัยสุโขทัย กล่าวกันว่าสร้างโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นวัดสำคัญคู่องค์กษัตริย์ พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม จะมีลักษณะโดดเด่นอย่างสวยงาม เป็นพระที่มีบุคคลผู้นิยมสะสมแสวงหาเป็นอย่างมาก
พระร่วงหลังลิ่ม วัดช้างล้อม พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2480 ณ พระเจดีย์องค์เก่าที่มีมาตั้งแต่เมื่อสร้างวัด เป็นพระเจดีย์ทรงแบบลังกาที่มีช้างล้อมรอบ เชื่อกันว่าสร้างโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระร่วงนั่งหลังลิ่มนี้ถูกบรรจุอยู่ในองค์พระเจดีย์เพื่อเป็นพุทธบูชาและสืบสานพระศาสนาตามคติโบราณ
ต่อมาในปี พ.ศ.2495 ได้มีการพบพระร่วงหลังลิ่มอีกครั้งที่กรุเดียวกัน
ปี พ.ศ.2500 ได้มีการพบพระเครื่องที่มีลักษณะเดียวกันที่บ้านแก่งสาระจิตและกรุวัดเจดีย์เจ็ดแถว แต่องค์พระที่พบจะมีผิวปรอทขาวมากกว่า ซึ่งต่างจากพระกรุวัดช้างล้อมที่จะมีผิวดำเป็นส่วนมาก
ปี พ.ศ.2507 พบพระที่มีลักษณะคล้ายกันอีกที่กรุวัดเขาพนมเพลิง แต่องค์พระจะไม่ค่อยลึกชัดนักและมีขนาดเล็กกว่าด้วย อีกทั้งด้านหลังเป็นแบบหลังตันทั้งหมด จึงเข้าใจว่าน่าจะเป็นพระถอดพิมพ์ หมายความว่าได้ต้นแบบมาจากพระร่วงหลังลิ่ม วัดช้างล้อม
พระร่วงหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม เป็นพระเนื้อชินเงิน องค์พระเป็นแบบครึ่งซีก ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานเขียง พระเกศเป็นแบบปลีซ้อน อยู่เหนือพระเมาฬี กรอบไรพระศกเป็นเส้น อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอู่ทองที่มีอิทธิพลขอมปะปนอยู่ วงพระพักตร์ออกเค้าอู่ทองหน้าแก่ เคร่งขรึม ดุดัน พระเนตรเป็นเนตรเนื้อนูนขึ้นมา ซึ่งเป็นการบรรจงสร้างองค์พระอย่างประณีตของช่างในสมัยนั้น เป็นพระที่แสดงพุทธศิลปะอู่ทองอย่างชัดเจน
เอกลักษณ์ พระร่วงนั่ง หลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย
- บริเวณกลางพระเพลา ใต้พระหัตถ์ขวา ขององค์พระ จะถูกเทเป็น ‘เนื้อเกิน’ เป็นตุ่มยื่นขึ้นมาทุกองค์
- พระกรรณ (หู) ทั้งสองข้างทำเป็นร่องลึกเหมือนใบหูของมนุษย์
- พระร่วงนั่ง หลังลิ่ม ในองค์ที่ติดชัดเจนจะปรากฏสร้อยพระศอ 2 เส้น
- พระวรกายสูงชะลูดและผอมบางเหมือนคนแก่ ตามลักษณะของพระพุทธรูปอู่ทอง
- พระอุระ นูนเด่นมีความอวบอิ่ม
- แสดงเส้นอังสะและสังฆาฏิ คมชัดเจน
- ช่องพระอุทร (ท้อง) แสดงกล้ามเนื้อเป็นสองลอน
พุทธคุณ พระร่วงนั่ง หลังลิ่ม
สำหรับพุทธคุณที่กล่าวขานกันมานั้น เด่นในด้านแคล้วคลาด ปลอดภัย นิรันตราย อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม เลื่อนยศตำแหน่ง ผู้คนเกรงขาม คุมคนให้อยู่ในอำนาจ พูดอะไรออกไปก็มีคนเชื่อถือ มีวาจาสิทธิ์เหมือนดังองค์พระร่วงเจ้า