บุญวิธีอีกประเภทหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมทำกันคือการถวายสังฆทาน ซึ่งเป็นหนึ่งวิธีในการทำบุญในทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับวัดเกี่ยวข้อกับพระสงฆ์ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ยากเพราะเราทำให้มันยุ่งยากเอง

สังฆทานคืออะไร
สังฆทานคืออะไร สังฆทาน คือการมอบสิ่งของถวายเพื่อเป็นของสงฆ์หรือแก่พระสงฆ์ และยังหมายถึงสิ่งของที่เป็นวัตถุทานด้วย เช่น ถังสังฆทาน ซึ่งอาจจะมีน้ำดื่ม ผ้า ยารักษาโรคเป็นต้น แต่ถ้าเราจะถวายสังฆทาน ไม่จำเป็นต้องไปซื้อเป็นถึงสำเร็จรูปที่เขาจัดขายมาถวาย เพียงแต่ซื้อสิ่งของใส่ถุง ใส่ถาด ใส่ตะกร้า สิ่งนั้นก็เป็นสังฆทานได้แล้ว
สังฆทานมีในสมัยพุทธกาลไหม
สังฆทาน การถวายสังฆทาน มีในสมัยพุทธกาลแน่นอน เพียงแต่ถังสีเหลือง ๆ ที่เขาวางขายตามร้านไม่มีในสมัยพุทธกาลเท่านั้นเอง ในสมัยพุทธกาล ทายกทายิกา มีการถวายภัตตาหาร ผ้าจีวร เสนาสนะ ยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสังฆทานนได้ทั้งนั้น

เราควรถวายอะไรเป็นสังฆทาน
การจัดสิ่งของถวายสังฆทานนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปซื้อชุดสังฆทานที่ทางร้านทำขาย ถึงมีว่าจะมีสิ่งของครอบจักรวาลก็ตาม แต่ของที่พระสงฆ์ใช้จริง ๆ นั้นมีไม่มาก บางอย่างในชุดสังฆทานเขาทำพอเป็นพิธี ไม่เหมาะการนำมาใช้จริง ๆ เช่น ในถังระบุว่ามีผ้าจีวร แต่พอแกะออกมาดู ก็มีผ้าจริง ๆ กว้างคืบ ยาวแค่ศอกแล้วจะให้พระท่านนำไปทำอะไร ในถังสังฆทานระบุว่า มีเครื่องดื่มกล่องใหญ่ ๑ กล่อง มีกล่องใหญ่จริง แต่เปิดดูแล้วมีซองเครื่องดื่มเล็ก ๆ แค่ ๑ ซองเท่านั้น ฉะนั้น ผมแนะนำว่า ของที่จะถวายเป็นสังฆทานนั้น ไม่จำเป็นต้องหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่าง มีสิ่งของประเภทเดียวก็ได้ ขอให้ใช้ได้จริง ใช้เรื่อย ๆ บ่อย ๆ ผมเคยไปร่วมงานสงกรานต์วัดหนึ่งที่เมืองฮ่องกง มีอุบาสิกาท่านหนึ่งปวารณาถวายน้ำ ๑๐๐ ลังเป็นสังฆทาน ถวายเป็นนิตย์ เมื่อน้ำหมดทางวัดแจ้งข่าวไป เขาก็จัดมาถวาย นี่ก็เป็นสังฆทาน ถวายเป็นของกลางทุกคนใช้ร่วมกัน พระใช้ทุกวัน หมดทุกวัน ญาติโยมมาก็แบ่งกันได้ดื่มไดักิน ผมจึงขอสรุปการวิธีเลือกสิ่งของที่จะถวายเป็นสังฆทาน ดังนี้
๑. เป็นสิ่งของที่พระใช้ทุกวัน หมดทุกวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาซักผ้า มีดโกน เป็นต้น
๒. เป็นของที่ทุกคนก็สามารถใข้ร่วมกันได้ เช่น น้ำดื่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น
๓. สิ่งของบางอย่าง นาน ๆ ใช้ที แต่ก็จำเป็นเหมือนกัน เช่น ยารักษาโรค ยาดม ยาหม่อง ผ้าติดแผล ชุดทำความสะอาดแผล
๔. ของที่เป็นบริขาร อันนี้ต้องเลือกหน่อย ไม่ใช่ซื้อสักแต่ว่าซื้อ เช่น บาตร จีวร บาตร ๑ ใบ ใช้ได้ตลอดชีวิตจนกว่าจะแตก ซื้อไปท่านอาจจะไม่ไดัใช้ เพราะท่านใช้แค่ใบเดียว จีวรก็เหมือนกัน จีวรมีหลายสี หลายขนาด สีนี้ วัดนี้อาจจะไม่ได้ใช้ ขนาดนี้ อาจจะไม่เหมาะกับพระรูปนี้ก็ได้ ถ้าจะถวายบาตร จีวรจริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ควรกราบเรียนถามท่านที่วัด ถึงสี ขนาด เนื้อผ้า อย่าไปคิดว่าเองว่าซื้ออะไรไปถวายท่านก็รับ ท่านรับจริง แต่รับไปแล้วท่านอาจจะไม่ได้ใช้ กองอยู่ในกุฏินั่นแหล่ะ เพราะขนาดของผ้าอาจจะใหญ่เกินไปบ้าง เล็กเกินไปบ้าง บางเกินไปบ้าง
๕. สิ่งที่จะถวาย ไม่จำเป็นต้องถูกหรือแพง แต่เน้นคุณภาพในการนำไปใช้ ไม่ใข่ว่าของถวายพระต้องถูก ถ้าถูกแล้วมันดีก็ใข้ได้ ของแพงล่ะถวายพระได้ไหม ได้ ของแพงถวายพระถวายวัดได้ทั้งนั้น ให้เน้นที่คุณภาพและการนำไปใช้เป็นหลักครับ
๖. ชุดถวายสังฆทานอุทิศให้คนตายก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่คนตายชอบ เช่น คนที่เราต้องการอุทิศไปให้ ชอบสุรา เครื่องสำอ้าง ชุดนอนสีแดง เราไม่จำเป็นต้องถวายในสิ่งที่เขาชอบ เพราะการถวายคือวิธีการทำให้เกิดบุญ เมื่อเกิดบุญเราอุทิศบุญไปให้ สิ่งที่เราอุทิศไปให้คือบุญไม่ใช่สิ่งของ ฉะนั้น สังฆทานที่อุทิศให้คนตายก็เหมือนสังฆทานทั่ว ๆ ไป ต่างที่เจตนาของผู้ถวายที่จะอุทิศบุญไปให้ใครเท่านั้นเอง