วรรณกรรมที่เลื่องชื่อของไทยมีหลายเรื่อง หลากรสและรูปแบบการพรรณนา ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีลักษณะการพูดถึงเรื่องราวของตัวละครเกี่ยวกับรักแท้และความมั่นคงของรัก รักข้ามภพชาติ การตกระกำลำบากของตัวละครพระเอก-นางเอก ดังเช่นตำนานความรักของพระสุธนมโนราห์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมตำนานความรักของไทยที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่องราวของพระสุธนมโนราห์ จะน่าสนใจมากเพียงใด ไปติดตามพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ตำนานความเป็นมาของพระสุธนมโนราห์
ครั้งหนึ่งมีอาณาจักรที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยมีชื่อเมืองว่า ปัญจาลนคร ซึ่งปกครองโดยเจ้าเมืองผู้มีทศพิธราชธรรม ชื่อเจ้าอาทิตยวงศ์ มีพระมเหสีพระนามว่าพระนางจันทาเทวี ทั้งสองพระองค์ปกครองเมืองโดยธรรม ทำให้บ้านเมืองประชาราษฎร์อาศัยอยู่อย่างสงบสุข และพระนางจันทาเทวีก็ได้ให้ประสูติพระโอรส พระนามว่าพระสุธน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด และมีรูปร่างงดงามกว่ากุมารในเมืองใกล้เคียงอื่นๆ
ปัญจาลนครเมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์
เรื่องราวการปกครองเมืองโดยทศพิธราชธรรมของเจ้าเมืองปัญจาลนคร ได้ล่วงรู้ถึงพญานาคราชนามว่าท้าวชมพูจิต ผู้มีฤทธิ์เดชมาก โดยสามารถทำให้อาณาจักรใดมีความเจริญรุ่งเรืองหรือแห้งแล้งกันดารก็ได้ เมื่อพญานาคราชรู้อย่างนั้นแล้วจึงบันดาลให้เมืองปัญจาลนคร มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งต่างจากเมืองที่อยู่ข้างกันชื่อว่านครมหาปัญจาละ ซึ่งปกครองโดยพระราชาที่ไม่มีทศพิธราชธรรม พระนามว่าพระเจ้านันทราช
พระเจ้านันทราชผู้ไม่มีทศพิธราชธรรม
เมืองนครมหาปัญจาละถูกปกครองโดยพระเจ้านันทราช ผู้ขาดศีลธรรม โดยปกครองด้วยการกดขี่ข่มเหงประชาชน ส่งผลให้เมืองนี้ประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง เมื่อเผชิญกับปัญหานี้ ประชาชนจึงพากันย้ายมาสู่เมืองปัญจาลนครที่มีแต่ความอุดมสมบูรณ์แทน ทำให้พระเจ้านันทราชเกิดความริษยาพระเจ้าอาทิตยวงศ์และแค้นเคืองท้าวชมพูจิต ผู้ถูกกล่าวหาว่าลำเอียงในการบันดาลฝนให้ตกแต่เฉพาะเมืองปัญจาลนคร
พระเจ้านันทราช คิดแก้แค้นท้าวชมพูจิต
พระเจ้านันทราชแค้นเคืองท้าวชมพูจิตผู้เป็นพญานาคราชนั้นอย่างมาก จึงปรึกษากับปุโรหิตเพื่อหาทางฆ่าพญานาคตนนี้ ซึ่งปุโรหิตก็รับอาสาที่จะไปฆ่าให้ตามบัญชาของพระเจ้านันทราช หลังจากนั้นปุโรหิตจึงเดินทางไปยังสระใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าวชมพูจิต และด้วยความเป็นผู้มีมนต์วิเศษสูงกว่าพญานาคราช จึงได้ใช้มนต์นั้นเป่าลงไปในสระใหญ่ ทำให้น้ำปั่นป่วน เกิดคลื่นลูกใหญ่สะเทือนไปทั้งสระ ซึ่งปุโรหิตได้เตรียมรากไม้สำหรับทำเป็นเชือกเพื่อจับพญานาคราชไว้เรียบร้อย
ท้าวชมพูจิต คิดหาทางทำลายพิธีของปุโรหิต
ด้วยอำนาจเวทย์มนต์ของปุโรหิต ทำให้ท้าวชมพูจิตร้อนรุ่มเหมือนกำลังถูกไฟเผา จึงต้องขึ้นจากสระแล้วแปลงกายเป็นพราหมณ์หนุ่ม เพราะรู้ว่ามีอันตรายกำลังเข้ามาใกล้ตัว แต่ด้วยฤทธิ์เดชอ่อนกว่าปุโรหิตจึงมิอาจต้านทานมนต์ของปุโรหิตได้ จึงคิดหาวิธีการเพื่อทำลายพิธีของปุโรหิตที่คิดจะทำลายตน หากแต่ก็ไม่สำเร็จ

พรานป่าอาสาช่วยกำจัดปุโรหิต
ท้าวชมพูจิตในร่างของพราหมณ์หนุ่ม ได้เข้าไปอยู่ในป่าเพื่อหนีเวทย์มนต์ของปุโรหิต และได้พบกับพรานป่าชาวเมืองปัญจาลนครผู้หนึ่งชื่อพรานบุญ จึงเข้าไปทักทายและพรานได้บอกว่า เป็นชาวปัญจาลนครที่มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ เพราะได้รับความช่วยเหลือจากพญานาคราช หากมีใครที่จะมาทำลายพญานาคราชแล้ว พรานป่าคนนี้สาบานว่าจะฆ่าบุคคลนั้น ซึ่งทำให้ท้าวชมพูจิตดีใจมาก จึงแสดงให้พรานเห็นว่าตนคือพญานาคราชนั้น รวมทั้งเล่าเรื่องภัยที่กำลังมาถึงอันเกิดจากปุโรหิต เมื่อเป็นเช่นนั้นพรานบุญจึงไปยิงปุโรหิตตายด้วยลูกธนู
พญานาคราชมอบของมีค่าให้พรานบุญ
เมื่อปุโรหิตตายก็ได้สร้างความดีใจให้กับท้าวชมพูจิตเป็นอย่างมาก และขอบคุณพรานบุญที่ได้ช่วยชีวิตเอาไว้ อีกทั้งยังชวนให้พรานบุญไปอยู่ยังเมืองใต้พิภพด้วยกัน โดยสัญญาว่าจะช่วยเหลือทุกอย่าง เมื่อมีการร้องขอจากพรานบุญ แต่พรานบุญยังรักในการเดินป่าเพื่อล่าสัตว์อยู่ จึงไม่ได้ตามลงไปด้วย ท้าวชมพูจิตจึงตอบแทนด้วยการให้ของมีค่าแก่พรานบุญ แล้วพรานบุญจึงลาเพื่อไปล่าสัตว์ต่อดังเดิม
พรานบุญพบพระฤาษีกัสสปะ
วันหนึ่งพรานบุญเดินทางเข้าป่า เพื่อทำการล่าสัตว์ก็ได้พบกับพระฤาษีนามว่ากัสสปะ และได้เล่าเรื่องกินรีให้พรานบุญฟัง ว่ากินรีนั้นอาศัยอยู่ที่บริเวณเขาไกรลาศ และจะบินมาเพื่อลงเล่นน้ำในสระโบกขรณีทุก 7 วัน แล้วพรานบุญจึงไปยังสระโบกขณีนั้นตามคำบอกเล่าของพระฤาษีและก็ได้เห็นกินรีนางหนึ่ง ซึ่งคิดจะจับไปถวายพระสุธนเพื่อให้เป็นของขวัญจากป่า แต่ก็ไม่สามารถจับได้ พระฤาษีได้บอกกับพรานบุญว่าไม่สามารถจับนางได้ นอกจากจะใช้บ่วงบาศก์ของพญานาคราชท้าวชมพูจิตเท่านั้นจึงจะสามารถจับได้
พรานบุญจับกินรีมโนราห์ได้
พรานบุญจึงไปขอยืมบ่วงบาศก์จากพญานาคราช แต่ท้าวชมพูจิตเองไม่ต้องการให้พรานบุญยืม เพราะเกรงว่าจะเป็นบาปกับตน แต่เพราะพรานบุญเคยช่วยชีวิตตนเอาไว้ รวมทั้งจากการใช้เวทย์มนต์ตรวจสอบดู พบว่านางกินรีตนนั้น ชื่อว่านางมโนราห์ ซึ่งเป็นคู่ครองของพระสุธนจึงยอมมอบบ่วงบาศก์นั้นให้แก่พรานบุญ เมื่อนำบ่วงบาศก์ไปก็สามารถจับนางมโนราห์ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 กินรีผู้เป็นธิดาของท้าวปทุมราชผู้ครองเขาไกรลาศ และพรานบุญได้นำตัวนางกินรีไปยังเมืองปัญจาลนครเพื่อถวายแด่พระสุธน

พระสุธนและมโนราห์เกิดความรักต่อกัน
หลังจากที่พระสุธนได้เห็นนางมโนราห์แล้วก็เกิดความรักใคร่ต่อนางอย่างมาก เนื่องจากเคยทำบุญและมีบุพเพสันนิวาสร่วมกันมา อีกทั้งพระราชาและพระราชินีก็ให้ความรักความเอ็นดูต่อนางมโนราห์ ด้วยรูปร่างและรูปโฉมอันงดงาม รวมถึงมีกิริยามารยาทเรียบร้อยเหมาะสมกับความเป็นหญิง จึงได้จัดพิธีอภิเษกสมรสให้กับทั้งสองคน และพรานบุญผู้จับกินรีมาก็ได้รับรางวัลมากมายด้วย
ปุโรหิตแห่งปัญจาลนครไม่พอใจ
เหตุการณ์นี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับปุโรหิตแห่งปัญจาลนครอย่างมาก เพราะต้องการให้บุตรสาวของตนได้อภิเสกสมรสกับพระสุธน แต่เมื่อมีนางมโนราห์เข้ามาจึงทำให้ความหวังของเขาสูญสลายไป จึงคิดแค้นและหาโอกาสในการกำจัดนางมโนราห์ โดยได้ไปคิดวางแผนร่วมกับเจ้าเมืองปัจจันตนคร เพื่อให้ยกทัพมาตีเมืองปัญจาลนคร และปุโรหิตได้เสนอให้พระสุธน เป็นผู้นำทัพออกไปปกป้องพระนครและขับไล่ข้าศึก เพื่อที่ในระหว่างนั้นจะได้มีโอกาสกำจัดนางมโนราห์ได้อย่างไม่มีอุปสรรค
พระเจ้าอาทิตยวงศ์ทรงพระสุบินนิมิต
ในคืนหนึ่งพระเจ้าอาทิตยวงศ์ ทรงพระสุบินนิมิตว่า มียักษ์ตนหนึ่งได้ลอบเข้ามายังพระราชวัง และควักเอาดวงพระทัยของพระองค์ไป จากนั้นพระองค์ตกใจและสะดุ้งตื่นจากการบรรทม จึงได้ให้ปุโรหิตมาทำนายสุบินนั้น ปุโรหิตเห็นโอกาสที่จะได้กำจัดนางมโนราห์ จึงทำนายว่าข้าศึกจะเข้ามายังพระราชวังและประหารพระองค์ ประชาชนจะพากันเดือดร้อนทุกถิ่นสถาน อีกทั้งเมืองหลวงจะถูกเผาจนหมดสิ้น หากจะหาทางแก้ไขได้จะต้องให้สัตว์ 2 เท้า และ 4 เท้าทำพิธีสังเวยบูชายัญ เพื่อทำการสะเดาะเคราะห์บ้านเมืองจึงจะอยู่รอดปลอดภัย
กลลวงคนสนิทของปุโรหิต
ขณะนั้นคนสนิทของปุโรหิต ได้มีกลลวงเข้ามากราบทูลว่า ทัพหลวงที่พระสุธนยกไปปราบข้าศึกแตกแล้วเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่างๆ โดยจะต้องจัดพิธีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งใช้สัตว์กึ่งมนุษย์กึ่งนกเหมือนนางมโนราห์เพื่อใช้เป็นสิ่งบูชายันต์แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่พระราชาและพระมเหสีทรงรักและสงสารนางมโนราห์อย่างมาก จึงขอให้ใช้สัตว์อื่นแทน แต่ปุโรหิตยังยืนกรานว่าต้องใช้นางมโนราห์เท่านั้น
นางมโนราห์ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
ทั้งสองพระองค์รู้สึกสงสารนางมโนราห์มาก และไม่อาจจะคาดเดาถึงจิตใจของพระสุธนผู้เป็นบุตรได้ว่าจะเป็นเช่นไร หากไม่เห็นเมียอันเป็นที่รักของตน แต่เพราะความอยู่รอดของเมือง พระราชาและพระมเหสีจึงต้องยอมทำเช่นนั้น โดยในพิธีกรรมได้ก่อกองไฟตามที่ปุโรหิตได้บอกไว้ แล้วให้เชิญนางมโนราห์เข้าพิธีบูชายัญ ซึ่งนางมโนราห์ก็ได้แต่ร้องไห้คร่ำครวญ ถึงพระบิดาพระมารดารวมทั้งพระสุธนสามีของตนเอง โดยบรรยากาศล้วนเต็มไปด้วยความโศกเศร้า

นางมโนราห์ทูลขอรำถวายเป็นครั้งสุดท้าย
นางมโนราห์ได้สติฉุกคิดเพื่อหนีจากสิ่งอยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับตนนี้ จึงทูลขอพระราชาและพระมเหสีว่าขอรำถวายเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งได้รับการอนุญาต นางจึงขอปีกและหางมาสวมใส่ แล้วออกไปร่ายรำอย่างงดงามต่อหน้าพระราชา พระมเหสี และท่ามกลางประชาชนมากมาย ซึ่งในขณะที่ทุกคนกำลังเพลิดเพลินดูการร่ายรำของนางมโนราห์อยู่นั้น นางจึงได้โอกาสบินหนีขึ้นสู่ท้องฟ้า และกลับไปยังเขาไกรลาศ
พระสุธนกลับมายังปัญจาลนคร
หลังจากที่เอาชนะข้าศึกได้แล้ว พระสุธนได้ยกทัพกลับมายังพระนคร แต่ไม่พบเมียอันเป็นที่รักจึงเกิดความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก พระสุธนได้สืบทราบถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดจึงได้สั่งประหารปุโรหิต แล้วลาพระบิดาพระมารดาเพื่อออกไปตามหานางมโนราห์ แม้ว่าจะถูกห้ามจากพระราชาและพระมเหสีมากเพียงใดก็มิอาจห้ามได้
พระสุธนออกตามหานางมโนราห์
พระสุธนได้เดินทางเข้าไปยังป่าเพื่อตามหานางมโนราห์ พร้อมด้วยพรานบุญและได้เข้าไปกราบพระฤาษีกัสสปะ ซึ่งพระฤาษีทูลว่า นางมโนราห์ได้บอกเอาไว้ว่าหากพระองค์จะมาตามหานาง ให้ล้มเลิกความตั้งใจเสีย เพราะหนทางในการตามหายากลำบาก และเต็มไปด้วยอันตรายมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม พระสุธนยังยืนยันที่จะติดตามเมียรักของตนเอง พระฤาษีจึงมิอาจห้ามได้และด้วยบุญกรรมจากอดีตชาติของทั้งสองที่เคยเป็นคู่กันมา โดยในอดีตชาติเคยเป็นพระรถเสนและพระนางเมรี กระทั่งมาถึงชาตินี้ก็ได้มาครองรักกันอีก ดังนั้นพระฤาษีจึงได้มอบผ้ากัมพลกับแหวนที่นางมโนราห์มอบให้แด่พระสุธน รวมทั้งได้มอบผลยาวิเศษพร้อมทั้งชี้ทางให้ไปตามหานางมโนราห์
พระสุธนออกตามหานางมโนราห์
พระสุธนออกตามหานางมโนราห์ด้วยตนเอง โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากพรานบุญและได้เดินผ่านป่ารกทึบ ที่เต็มไปด้วยผลไม้มีพิษ จึงไม่มีอะไรที่จะสามารถกินได้ แต่มีลูกลิงตัวหนึ่งมาช่วยโดยการให้ผลไม้ที่ลูกลิงกินกับพระสุธน จึงทำให้ปลอดภัย เมื่อมาถึงป่าหวายก็ได้เจอกับหนามพิษมากมาย จึงใช้ผ้ากัมพลห่มแล้วนอนนิ่งๆ ทำให้นกหัสดีลิงค์คิดว่านั้นเป็นอาหาร จึงคาบเอาร่างพระสุธนไปไว้บนยอดไม้ก่อนที่จะไปหาอาหารเพิ่มอีก พระสุธนจึงได้โอกาสหนี กระทั่งมาถึงภูเขายนต์สองลูก เคลื่อนเข้ากระทบกันตลอดเวลา จึงไม่มีจังหวะที่จะสามารถข้ามไปได้ เมื่อนั้นจึงใช้เวทย์มนต์ที่พระฤาษีให้มา แล้วร่ายเวทย์มนต์นั้นทำให้สามารถข้ามไปได้
พิธีล้างกลิ่นสาบมนุษย์ให้กับนางมโนราห์
พระสุธนได้เดินทางเข้ามายังป่าอีกแห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยพืชและสัตว์มีพิษมากมาย พระสุธนจึงใช้ผลยาวิเศษชโลมทั่วกาย จึงทำให้สามารถผ่านเข้าไปในป่านั้นได้ และได้มาพบที่อยู่ของนกยักษ์ จากนั้นพระสุธนได้แอบอยู่ในโพรงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เพื่อรอให้ถึงพลบค่ำ โดยเมื่อเวลากลางคืนมาถึงก็ได้ยินเสียงนกผัวเมียคู่หนึ่ง ได้พูดคุยเรื่องการเชิญให้เข้าร่วมพิธีล้างกลิ่นสาบมนุษย์ ให้กับนางมโนราห์ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งพิธีนี้จะจัดขึ้นหลังจากที่มโนราห์กลับมาครบ 7 ปี 7 เดือน และ 7 วัน
พระสุธนเดินทางสู่เขาไกรลาศ
ครั้นพระสุธนเมื่อได้รู้เช่นนั้น จึงได้ขึ้นไปแอบในขนนกยักษ์ตัวหนึ่งเพื่อรอให้ถึงเวลาไปยังเขาไกรลาศ และเมื่อถึงตอนเช้า นกตัวนั้นก็ได้มาถึงสวนอุทยานและเกาะบนต้นไม้ พระสุธนจึงรีบออกจากขนนกและไปซ่อนตัวในพุ่มไม้ ซึ่งได้มองเห็นกินรีกำลังเล่นน้ำในสระอโนดาตอย่างสนุกสนานกับนางมโนราห์ พระสุธนจึงแอบเอาแหวนใส่ลงในน้ำ ทำให้นางมโนราห์เห็นแหวนนั้นระหว่างสรงน้ำ จึงรู้ว่าพระสุธนผู้เป็นสามีของตนได้ตามมาถึงยังเขาไกรลาศนี้แล้ว ทำให้นางยินดียิ่งนักและออกตามหาพระสุธน
พระสุธนและนางมโนราห์พบกันอีกครั้ง
เมื่อทั้งสองได้มาพบกันอีกครั้ง นางมโนราห์ก็ได้พาพระสุธนเข้าไปยังปราสาทของตน ท้าวปทุมราชและพระมเหสีได้ทราบเรื่องราวดังกล่าว ต่างก็เห็นใจในความรักของทั้งสองอย่างมาก และมองเห็นความดีงามที่พระสุธนอุตส่าห์ดั้นด้นฝ่าฟันอันตรายมากมายมาถึงเขาไกรลาศได้ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถและเป็นผู้วิเศษจึงมิขัดขวางแต่ประการใด อย่างไรก็ตาม พระสุธนก็ยังต้องทดสอบความรักที่มีต่อนางมโนราห์ให้ผ่านก่อนด้วยเช่นกัน
การทดสอบความรักของพระสุธนต่อมโนราห์
เมื่อถึงวันทดสอบความรักของพระสุธนต่อนางมโนราห์ ท้าวปทุมราชได้ให้นางกินรีพี่น้องทั้ง 7 ซึ่งมีความงามและคล้ายคลึงกัน ออกมาร่ายรำแล้วให้พระสุธนหาว่าใครคือ นางมโนราห์ ทำให้พระสุธนเกิดความหนักใจมาก เพราะความคล้ายคลึงกันทั้ง 7 กินรีนั้น แต่พระอินทร์ต้องการให้ความรักของทั้งสองสมหวัง จึงลงมากระซิบบอกว่าหากนางกินรีนางใดที่มีแมลงวันทองบินมาจับที่ใบหน้าแสดงว่านางนั้นคือ พระชายาของพระองค์

พระสุธนและนางมโนราห์ได้อยู่ร่วมกัน
พระสุธนได้มองไปยังนางกินรีทั้ง 7 แล้วพบแมลงวันทองเกาะที่ใบหน้านางมโนราห์ จึงรีบดึงมือของนางมาทันที พระราชาและทุกคนต่างมีความยินดียิ่งนักที่ได้เห็นทั้งสองสวมกอดกันและได้ครองรักกันอีกครั้ง ท้าวปทุมราชและพระมเหสีจึงได้จัดพิธีอภิเษกสมรสให้กับทั้งสองอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง และทั้งสองจึงได้อยู่ร่วมกันอีกครั้งหลังจากพลัดพรากจากกันไปนาน
ท้าวปทุมราชร่วมเสด็จกลับเมืองปัญจาลนคร
หลังจากพิธีอภิเษกสมรส และได้อยู่ร่วมกันอีกครั้งของทั้งสองแล้ว พระสุธนได้ทูลขอท้าวปทุมราชให้เสด็จพร้อมด้วยนางมโนราห์กลับไปเยี่ยมบ้านเมือง รวมทั้งพระบิดาพระมารดาของพระองค์บ้าง ท้าวปทุมราชก็ทรงอนุญาตและร่วมเสด็จไปยังเมืองปัญจาลนครด้วย ทำให้ได้พบกับพระบิดาและพระมารดาของพระสุธน จึงได้แลกเปลี่ยนของขวัญและสัญญาเป็นพระสหายกันตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
พระสุธนและนางมโนราห์ขึ้นครองราชสมบัติ
เมื่อประทับอยู่ในพระราชวัง 7 วัน ท้าวปทุมราชจึงได้ลากลับเขาไกรลาศ จากนั้นพระสุธนก็ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแทนพระราชบิดาด้วยทศพิธราชธรรมและใช้ชีวิตอยู่กับนางมโนราห์อย่างมีความสุข พร้อมปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ให้มีแต่ความอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา กระทั่งถึงช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ
ตำนานความรักของพระสุธนและนางมโนราห์ ทำให้เห็นถึงหลักธรรมเรื่องบุญนำกรรมแต่ง หากคนเรามีโอกาสได้สร้างบุญกรรมร่วมกันมา ไม่ว่าจะเป็นชาติปางไหน แม้จะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นสักเพียงใด แต่ก็มิอาจกั้นขวางบุพเพสันนิวาส และความรักของทั้งสองคนได้ไปได้แน่นอน ดังเช่นตำนานความรักของพระสุธนมโนราห์นั่นเอง