บึงสามพัน เมืองที่มีชื่อเดิมว่า เพชรบุระ หรือ พืชปุระ ซึ่งหมายถึง เมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยบึงสามพันเป็นอีกหนึ่งอำเภอที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยบรรยากาศของพื้นที่ทางธรรมชาติที่น่าไปเยือน บวกกับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย รวมทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีให้ได้ไปเยี่ยมชมหลากหลายรูปแบบ ทั้งวัดวาอาราม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และบึงน้ำตามธรรมชาติที่พลาดไม่ได้เมื่อไปเยือนเพชรบูรณ์ก็คือ บึงสามพัน แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ และวันนี้เราก็จะพาคุณไปทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของบึงสามพัน แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่แห่งนี้ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง รีบไปทำความรู้จักกันเลย
บทความแนะนำ…ประวัติบึงโขงหลง แหล่งชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์แห่งจังหวัดบึงกาฬ
ลักษณะของบึงสามพัน
บึงสามพันเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ราว 323 ไร่ มีลักษณะเป็นคลองยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งน้ำจะใสตลอดทั้งปี เป็นบึงที่ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม แหล่งเพาะพันธุ์ปลา และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญขึ้นชื่อของอำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย บึงสามพันแห่งนี้เมื่อก่อนปี พ.ศ. 2500 เคยเต็มไปด้วยสัตว์มากมายหลายชนิด โดยเฉพาะจระเข้ที่ประมาณกันว่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัว ปัจจุบันนี้ยังมีหลักฐานยืนยันว่า มีกระดูกจระเข้จำนวนมาก อยู่ที่วัดบึงสามพันล่าง
การค้นพบกระดูกของจระเข้ที่ได้นำมาเก็บไว้ยังวัดบึงสามพันล่างนั้น แสดงให้เห็นถึงสภาพของบึงสามพันสมัยก่อนได้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ในลำน้ำแห่งนี้ถือเป็นพื้นที่อันตรายที่สุดอีกแห่ง หากใครย่างกรายลงไปในน้ำ โอกาสที่จะรอดคงน้อยมาก เพราะจากจำนวนกระดูกจระเข้ที่ค้นพบปริมาณมาก และที่ไม่ได้ค้นพบอีกจะมากขนาดไหน คนตกน้ำลงไปคงไม่เหลือชีวิตรอด จึงไม่ต้องแปลกใจว่าสมัยก่อนที่ล่องเรือมา หากเรือล่มก็คือต้องตายในล้ำน้ำบึงสามพันนี้เป็นแน่
บทความแนะนำ…ตำนานป่าคำชะโนด เกาะศักดิ์สิทธิ์ ถิ่นพญานาคราช
หลวงพ่อบึงสามพัน
หลวงพ่อบึงสามพัน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเนื้อสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 19 นิ้ว สูง 31 นิ้ว คาดว่าสร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลาย อู่ทองตอนต้น พบจมอยู่ในลำน้ำแห่งนี้เมื่อหลายร้อยปีก่อน เพราะเป็นเส้นทางเดินเรือของคนสมัยก่อน แล้วอาจจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปมากับเรือด้วย แต่พอมาถึงตรงจุดที่เกิดอุบัติเหตุเรือล่มขึ้น ทำให้ทรัพย์สินและพระพุทธรูปจมน้ำ ส่วนผู้คนถ้าไม่จมน้ำก็คงหนีเอาตัวรอด บางส่วนก็ถูกจระเข้กัดตาย เนื่องจากได้พบซากจระเข้ และซากเรือโบราณที่ทำจากไม้ตะเคียน และฆ้องโบราณในลำน้ำจำนวนมาก
ภายหลังอีกหลายปีชาวบ้านได้นำขึ้นมาจากลำน้ำ แล้วอัญเชิญท่านไปไว้ที่วัดโพธิ์ทอง หรือวัดคงสมโภชน์ในปัจจุบัน และได้ตั้งชื่อให้กับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธรูปสามพัน จากนั้นจึงกลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านโภชน์และชาวบึงสามพันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บทความแนะนำ…ตำนานปู่อือลือนาคราช ความรักระหว่างมนุษย์และนาคา
ตำนานบึงสามพัน และการค้นพบหลวงพ่อสามพัน
มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ชาวบ้านอำเภอหนองไผ่ได้ชวนกันมาลงหาปลาในบึงสามพัน และมีหญิงหม้ายคนหนึ่งชื่อยายมอญมายกยอหาปลา และวันนั้นยายมอญยกยอไม่ได้ปลาเลยสักตัว กระทั่งถึงเวลาตะวันบ่ายคล้อย ใกล้จะถึงเวลากลับบ้าน ยายมอญก็ยังคงหาปลาไม่ได้เลยเช่นเดิม นางจึงเกิดความท้อแท้ใจ เมื่อถึงเวลาจะกลับบ้านแล้ว จึงจะยกยอพับเพื่อเก็บบนเรือ แต่ปรากฏว่ายอของยายมอญไปติดวัตถุบางอย่างในน้ำทำให้ยกไม่ขึ้น ยายมอญจึงวานให้เพื่อนบ้านช่วยลงไปยกยอขึ้นมาให้ แต่ปรากฎว่าสิ่งที่ติดยอของยายมอญขึ้นมานั้นเป็นพระพุทธรูป
จากนั้นเพื่อนบ้านของยายมอญช่วยกันตัดไม้ เพื่อเตรียมมาทำไม้คานหามอัญเชิญพระพุทธรูปนั้นไปไว้ที่วัดโพธิ์ทองหรือวัดคงสมโภชน์ในปัจจุบัน ต่อจากนั้นชาวบ้านได้ปรึกษากัน เพื่อหารือเรื่องการเฉลิมฉลองการค้นพบพระพุทธรูปนั้น เพื่อให้เป็นประเพณีและสร้างความเป็นสิริมงคลกับหมู่บ้านด้วย โดยชาวบ้านให้ชื่อพระพุทธรูปว่า หลวงพ่อสามพัน เพราะเป็นพระพุทธรูปที่ค้นพบจากบึงสามพัน และเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอันศักดิ์สิทธิ์ตลอดมา
ประเพณีการแข่งขันเรือชิงถ้วยพระราชทาน
กิจกรรมในลำน้ำแห่งนี้ที่จัดเป็นประเพณี คือ จะมีการจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี ชิงถ้วยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นประจำทุกปี ทำให้เป็นประเพณีที่คนบึงสามพัน มีความผูกพันคู่กับลำน้ำ อีกทั้งเป็นเหมือนงานและประเพณีแห่งเกียรติยศของคนบึงสามพันและจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อชิงชัยถ้วยพระราชทานการแข่งเรือในสายน้ำแห่งนี้
บทความแนะนำ…ตำนานความรักสุดซึ้ง ระหว่างท้าวผาแดงนางไอ่กับหนึ่งหญิงสองชาย
วิถีชีวิตของคน และความผูกพันกับบึงสามพัน
ปัจจุบันบึงสามพันแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อของเพชรบูรณ์ เพราะมีบรรยากาศลำน้ำอันกว้างขวางและน่าชม มีร้านอาหารมากมายให้นักท่องเที่ยว ได้มาลิ้มลองทานระหว่างการท่องเที่ยวมากมายหลายร้าน รวมทั้งบึงสามพันแห่งนี้ยังเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุม จึงมีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามาหาปลาในช่วงหน้าน้ำเป็นประจำทุกปี โดยจะได้เห็นภาพของชาวบ้านที่มักจะใช้เรือในการหาปลา และใช้เครื่องมือการจับปลาตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นภาพที่มีให้เห็นทั่วไปในบึงสามพัน สะท้อนบรรยากาศให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายในชนบทอย่างแท้จริง
การเดินทาง และสถานที่ตั้งของบึงสามพัน
บึงสามพัน เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในอำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ การเดินทางจากเพชรบูรณ์ให้ใช้ทางหมายหลวงเลข 21 ผ่านบ้านวังชมภู ผ่านอำเภอหนองไผ่ สู่อำเภอบึงสามพัน ตรงสี่แยกไฟแดง บริเวณกิโลเมตรที่ 340 – 341 จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายเข้าบึงสามพัน แล้วตรงไปอีกไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ถึงที่หมายคือบึงสามพันนั่นเอง บึงสามพันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่น่าไปเยือนเพื่อชมธรรมชาติอันงดงามของลำน้ำ อีกทั้งยังได้ไหว้หลวงพ่อสามพันอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล รวมทั้งได้ศึกษาประวัติการค้นพบหลวงพ่อสามพันและการค้นพบกระดูกจระเข้อายุกว่าร้อยปี บึงสามพันนี้ จึงเป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง หากคุณมีโอกาสได้มาเยือนจังหวัดเพชรบูรณ์
ภาพประกอบจาก…thailandtourismdirectory.go.th