ใครที่มีโอกาสผ่านไปทางจังหวัดนครสวรรค์ จะต้องแวะสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ให้ได้ นั่นก็คือ บึงบอระเพ็ด สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดนครสวรรค์นั่นเอง เนื่องจากเป็นบึงน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หากไปในช่วงที่มีบัวแดงผุดขึ้นมาเบ่งบานเต็มทั่วผืนน้ำ ก็ยิ่งจะได้ชมภาพอันแสนประทับใจ ด้วยบรรยากาศและทิวทัศน์อันสวยงาม จึงมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเสด็จแปรพระราชฐานเยือนบึงบอระเพ็ด เป็นหลักฐานยืนยันได้ถึงความงดงามของบึงน้ำแห่งนี้ได้อย่างแน่ชัดยิ่งขึ้น ดังนั้น วันนี้เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับบึงบอระเพ็ดมากขึ้นกว่าเดิม เราจะพาคุณไปดูว่า บึงแห่งนี้มีอะไรน่าสนใจอยู่บ้าง และตำนานเจ้าแม่หมอนทอง จะมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับบึงบอระเพ็ด ไปติดตามกันเลยดีกว่าค่ะ
เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับบึงบอระเพ็ด
บึงบอระเพ็ดนั้นมีชื่อเดิมว่า ทะเลเหนือ หรือ จอมบึง เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ทั้งหมด 132,737 ไร่ จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไทย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครสวรรค์ ทั้งยังอยู่ในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง เมื่อในอดีตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จแปรพระราชฐานยังที่แห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีพระตำหนักเมื่อครั้งพระองค์ทรงเสด็จมายังที่แห่งนี้อยู่
นอกจากความสวยงามตามแบบธรรมชาติที่มีให้เที่ยวชมแล้ว บึงบอระเพ็ดยังเป็นที่อยู่ของสัตว์ และพันธุ์พืชจำนวนมาก รวมทั้งจระเข้ จากการสรวจพบว่ามีสัตว์อาศัยอยู่ประมาณ 148 ชนิด พันธุ์พืช 44 ชนิด มีพันธุ์สัตว์ที่หายากและพบเป็นครั้งแรกที่บึงบอระเพ็ด คือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรด้วย อีกทั้งยังมีปลาเสือตอ และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม จะมีนกเป็ดน้ำอพยพมาที่บึงบอระเพ็ดจำนวนมาก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบึงแห่งนี้ จึงทำให้พื้นที่บางส่วนได้รับการขึ้นทะเบียน และยังจัดเป็นเขตหวงห้ามล่าสัตว์ป่าอีกด้วย
สภาพอันสมบูรณ์ของบึงบอระเพ็ดในอดีต
เมื่อปี พ.ศ. 2466 ปลายรัชกาลที่ 6 ต่อรัชกาลที่ 7 เมืองนครสวรรค์ ยังมีฐานะเป็นมณฑลนครสวรรค์ เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบจังหวัดได้ไม่นาน เวลานั้นบริเวณบึงบอระเพ็ดยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพราะเป็นที่กักเก็บน้ำที่จะไหลบ่าลงมาท่วมพื้นที่กว่า 130,000 ไร่ ซึ่งในฤดูน้ำหลากช่วงเดือนตุลาคม น้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำน่าน จะไหลเข้าบึงบอระเพ็ดเข้าคลองพระนอน หนองกรวดใน หนองดุก หนองกาแอก คลองสายลำโพง กระทั่งไหลมารวมกันจนกลายเป็นพื้นน้ำกว้างใหญ่ซึ่งก็คือ บึงบอระเพ็ดนั่นเอง
วัชพืชเป็นอุปสรรคในการใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร
พื้นที่ทั่วไปของบึงบอระเพ็ดสมัยก่อนที่จะปรับปรุงนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพงดงหญ้าเต็มไปทั่ว ไม่สามารถใช้ปลูกข้าวได้ เพราะจะมีพวกวัชพืชพวกผักตบชะวา สันตะวา ขึ้นเต็มไปหมด อีกทั้งในฤดูแล้งน้ำแห้งลดลงมาก จึงสามารถใช้การเดินทางระหว่างบึง ด้านตะวันออกเขตบ้านท่าตะโก และฝั่งตะวันตกปากคลองบอระเพ็ด สามารถใช้เกวียนข้ามบึงมาได้เหมือนกัน และตรงบริเวณปากคลองบอระเพ็ดด้านใน มีต้นมะม่วงหมอนทองสูงใหญ่ ซึ่งชาวบ้านใช้ที่ตรงนี้เป็นที่พักคาราวานเกวียน เป็นแบบนี้มาแต่โบราณ เมื่อฤดูน้ำหลากมาถึงอีกครั้ง ชาวบ้านจะเปลี่ยนการเดินทางด้วยเกวียนมาเป็นเรือแจว เรือพายหรือเรือยนต์แทน โดยผ่านต้นมะม่วงหมอนทองนี้เหมือนเดิม เพื่อเข้าพักร่มและพักกินข้าว หรือพักเหนื่อยเอาแรงก่อนออกหาปลาหรือเดินทางต่อไป
การพัฒนาแหล่งน้ำบึงบอระเพ็ด
กระทรวงเกษตราธิการ หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงจากประเทศสหรัฐ คือ ดร.ฮิวจ์ เอ็ม สมิธ ทำการศึกษาวิจัยและหาแนวทางเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ดร.ฮิวจ์ จึงได้เสนอให้สร้างประตูสำหรับเก็บกักน้ำให้อยู่ในบึงตลอดเวลา เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์สัตว์น้ำทั้งหลาย และเพื่อใช้น้ำในด้านต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ.2470 จึงได้มีการสร้างจัดสร้างประตูน้ำบึงบอระเพ็ดขึ้น ทำให้น้ำในบึงยังคงเต็มเหมือนอย่างปัจจุบัน
ตำนานต้นบอระเพ็ด และจระเข้คำรามในบึง
ปัจจุบันต้นบอระเพ็ดที่เป็นชื่อของบึงน้ำกว้างใหญ่แห่งนี้ ได้สูญพันธุ์ไปจากบึงทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 จึงไม่ได้เห็นภาพต้นบอระเพ็ด ณ บึงแห่งนี้อีกแล้ว ส่วนเรื่องของจระเข้คำรามนั้น มีผู้ยืนยันว่าในฤดูกาลแห่งการผสมพันธุ์ของจระเข้ คือช่วงเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม จะได้ยินเสียงจระเข้คำรามกึกก้อง ถึงแม้ว่าจะไม่มีเสียงของจระเข้แบบนั้นในบึงให้ได้ยินแล้ว แต่ยังมีผู้ที่เคยอยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษเชื่อว่า จระเข้ในบึงบอระเพ็ดนั้น จะไม่มีวันหมดสิ้นไปจากบึงแห่งนี้ ตราบใดที่ยังมีศาลเจ้าแม่หมอนทองตั้งอยู่
เจ้าแม่หมอนทอง เทพีผู้พิทักษ์บึงบอระเพ็ด
ชาวบ้านที่อยู่อาศัยมานานมีความเชื่อกันว่า เจ้าแม่หมอนทอง เป็นผู้พิทักษ์บึงและจระเข้ในบึงทั้งหมดเอาไว้ โดยไม่ให้จระเข้ทั้งหลาย โผล่ปรากฎขึ้นมาเหนือน้ำ เพื่อให้รอดจากการถูกล่าเอาไข่และตัวไปขาย อีกทั้งจระเข้เองก็หลบเพื่อรอวันที่จะโผล่ขึ้นมาแสดงความยิ่งใหญ่ เป็นจ้าวแห่งบึงบอระเพ็ด ชาวบ้านละแวกบึงบอระเพ็ดเชื่อว่า หากจะกล่าวถึงเจ้าแม่หมอนทอง จะต้องเอ่ยชื่อท่านด้วยความเคารพ และก่อนที่จะลงหาปลาในบึง จะต้องกล่าวขอความคุ้มครอง และขอความปลอดภัยให้กับทุกอย่างในบึงบอระเพ็ด ซึ่งอิทธิฤทธิ์ของเจ้าแม่ก็เป็นที่รู้กันดีคู่กับคนบึงบอระเพ็ดมานาน โดยยังคงเป็นที่โจษขานของคนแถวบึงบอระเพ็ด และผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับบึงแห่งนี้มาโดยตลอด
บึงบอระเพ็ดมีจระเข้ และเจ้าแม่ผู้คุ้มครอง
ตามความเชื่อในบึงบอระเพ็ด ยังคงมีจระเข้านับพันตัวอาศัยอยู่ โดยในส่วนที่ลึกที่สุดของบึง และมีจระเข้สองตัวที่ร้ายกาจที่สุดอาศัยอยู่ในส่วนที่ลึกสุดของบึงนี้ และยึดพื้นที่เป็นอาณาเขตปกครองของตนเอง ส่วนจระเข้บริวารจะอยู่คนละแดน ซึ่งจระเข้ที่กล่าวถึง คือเจ้าพ่อบึงแดนเหนือ คือ ไอ้ด่าง และเจ้าพ่อบึงแดนใต้คือ ไอ้ดำ ซึ่งจระเข้ทั้งสองตัวถือเป็นพยัคฆ์ร้ายแห่งบึงบอระเพ็ด ทั้งยังถือว่าเป็นเรือของเจ้าแม่หมอนทอง โดยทั้งสองตัวไม่ต้องการดูแลจระเข้บริวารตัวใด หากจุดธูปเจ็ดดอกกับเจ้าแม่หมอนทอง จะสามารถดูได้เพียงเสี้ยวนาทีที่ธูปหมดดอก
ลักษณะของไอ้ด่าง บนลำตัวจะมีลายด่างพาดตลอดทั้งลำตัว ส่วนไอ้ดำนั้นจะมีผิวเกล็ดสีดำเมื่อม ดวงตาโตส่องประกายเหมือนสีเลือด ทั้งสองตัวมีขนาดใหญ่และยาวมากกว่าสองวา ปากกว้างและมีเขี้ยวแหลมคม มีท่อนหางใหญ่มาก เวลาว่ายน้ำโบกสะบัด ทำให้ดูน่าเกรงขาม ส่วนนิสัยของไอ้ด่างนั้น ไม่เคยทำร้ายคน บางครั้งปรากฎกายเคียงข้างเรือแล้วก็ดำหายไป กระทั่งได้ฉายาว่าสุภาพบุรุษแห่งบึงบอระเพ็ด แต่ไอ้ดำมีลักษณะนิสัยต่างจากไอ้ด่างมาก เพราะมันเป็นจระเข้ล่ามนุษย์โดยเฉพาะ ทำให้ได้รับฉายาว่าพยัคฆ์ร้ายแห่งบึงบอระเพ็ด ซึ่งผลกรรมของผู้กระทำผิดกฎบึงบอระเพ็ด ด้วยการกล่าววาจาเยาะเย้ยถากถาง หรือการท้าว่าไม่กลัวจระเข้ในบึงบอระเพ็ด หรือจาบจ้วงทำลายสัตว์น้ำและจระเข้ โดยไม่มีการบอกกล่าว ไอ้ดำจะติดตามล่าสังหารเอาชีวิตแบบไม่ลดละเลยทีเดียว
การสร้างศาลเพียงตาให้เจ้าแม่หมอนทอง
วิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพัน และต้องใช้บึงบอระเพ็ดเพื่อทำมาหากิน ล้วนมีความผูกพันกับบึงน้ำแห่งนี้อย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณที่มีผู้คนมากมายแวะเวียนมาพักผ่อน ใต้ร่มมะม่วงหมอนทองต้นมหึมาซึ่งมีอายุกว่าร้อยมีมาแล้วนั้น ผู้คนมักจะความเชื่อว่าต้นมะม่วง น่าจะมีเทพีสิงสถิตอยู่ จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลเพียงตาขึ้น ซึ่งเป็นเพียงศาลไม้เล็ก ๆ ตั้งอยู่ที่โคนต้นมะม่วงหมอนทอง แล้วชาวบ้านก็ตั้งชื่อเจ้าแม่ที่สถิตยังศาลนี้ว่า เจ้าแม่หมอนทอง
เนื่องจากในฤดูน้ำหลาก บึงบอระเพ็ดที่เคยเป็นบึงเล็ก ๆ ก็กลายเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาล ที่มองดูแล้วเหมือนทะเล กระทั่งได้ถูกขนานนามว่า ทะเลเหนือ เมื่อกาลเวลาผ่านไปมีลมมรสุมพัดผ่านเข้ามา คลื่นในท้องทะเลเหนือ ถาโถมเข้าหาฝั่งขอบบึง ด้านที่ตั้งศาลเจ้าแม่หมอนทอง นานวันเข้าปีแล้วปีเล่า สุดท้ายต้นมะม่วงหมอนทองและศาลเจ้าแม่หมอนทองก็ล้มและหายไป จากการเป็นสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตคู่บึงบอระเพ็ด
เจ้าแม่เข้าฝันชาวบ้านให้สร้างศาลทดแทน
ผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่เล่าว่า ก่อนวันที่ต้นมะม่วงหมอนทองต้นนี้จะล้มลงในบึง เจ้าแม่หมอนทองได้ไปเข้าฝันชาวบ้านย่านปากคลองบึงบอระเพ็ดว่า ถึงเวลาที่ต้นมะม่วงหมอนทองต้นนี้ จะต้องลมทลายลงแล้วตามกาลเวลา แต่เจ้าแม่หมอนทองได้อยู่ดีมีสุขตลอดมาในที่แห่งนี้ และไม่ต้องการย้ายไปที่อื่น ยังคงต้องการพิทักษ์บึงบอระเพ็ดและอยู่ที่แห่งนี้ จึงขอให้ตัวแทนชาวบ้าน ช่วยกันกู้ต้นมะม่วงหมอนทองขึ้นมาเลื่อยเป็นไม้ และสร้างศาสนสถานไว้ที่นี่ รวมทั้งใช้ส่วนหนึ่งสร้างศาลให้ใหม่ ณ จุดเดิม จึงเป็นจุดกำเนิดของวัดกลางบึงที่เคยเป็นวัดร้างมาก่อน จึงสร้างเอาไว้ให้ผู้คนได้พักเมื่อผ่านมาทางบึงนี้
ต่อจากนั้นก็มีการสร้างโบสถ์สำหรับเป็นที่บูชา โดยได้นำพระพุทธรูปศิลาองค์ใหญ่ ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดท่าตะโกมาประดิษฐานไว้ ชาวบึงจะมาพักที่ศาลาไม้มะม่วงนี้เสมอ อีกทั้งในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปีก็จะมีขบวนแห่มาทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปองค์นี้อยู่เป็นประจำ
ศาลเจ้าแม่หมอนทองล่มอีกครั้ง
หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2470 มีการสร้างประตูน้ำบึงบอระเพ็ดขึ้น ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมบริเวณทั้งบึง ทำให้สิ่งต่าง ๆ จมอยู่ใต้ผิวน้ำทั้งหมด สภาพบึงกลายเป็นทะเลอันกว้างใหญ่ และได้เรียกชื่อว่าบึงบอระเพ็ดตั้งแต่นั้นมา ซึ่งครั้งนี้วัดกลางบึงก็ถูกน้ำท่วมจนมิด รวมทั้งศาลาไม้มะม่วงและโบสถ์ก็ถูกน้ำพัดทลาย ทำให้พระพุทธรูปศิลาจมหายไปกับสายน้ำในบึงด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าพระไปอยู่ที่ใดของบึง ปัจจุบันเรียกบริเวณนี้ว่า เกาะวัด หรือเรียกอีกอย่างว่า โคกโบสถ์ และยังคงมีพื้นที่เหลือประมาณ 50 ตารางวา ที่ชาวบ้านพอจะใช้เป็นที่หลบฝน และพายุในเวลาออกหาปลาได้ ซึ่งนี่ก็คือ การล่มสลายของศาลเจ้าแม่หมอนทองครั้งที่สองไปด้วย
กรมประมงสร้างศาลเจ้าแม่หมอนทองขึ้นใหม่
เมื่อการก่อสร้างประตูน้ำบึงบอระเพ็ดเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ของกรมประมงผู้ทำหน้าที่ดูแลบึง ได้พร้อมใจกันสร้างศาลเจ้าแม่หมอนทองขึ้นมาใหม่ โดยได้ย้ายจากปากคลองบอระเพ็ดด้านใน มาอยู่ในพื้นที่ของประตูน้ำบึงอีกประมาณ 50 เมตร และให้ช่างปั้นรูปเจ้าแม่ขึ้นตามความฝันของชาวบึงบอระเพ็ด ที่เคยฝันเมื่อครั้งต้นมะม่วงล้มกลางบึงนั่นเอง
ปัจจุบันศาลเจ้าแม่หมอนทองยังคงมีอยู่ หากขึ้นไปยืนบนศาลของเจ้าแม่จะสามารถมองเห็นพื้นที่ทั่วไปของบึงบอระเพ็ดได้อย่างชัดเจน เพราะศาลที่สร้างขึ้นใหม่มีความแข็งแรงมาก โดยสร้างเป็นเรือนปั้นหยา บันได 9 ขั้น เป็นโถงมีเฉลียงยืนได้ 2 – 3 คน ภายในมีรูปปั้นตุ๊กตาช้าง ม้า วัว ควาย ทาสีทาสา และแขวนระโยงระยางด้วยผ้าสี รวมทั้งห้อยพวงมาลัยกระดาษสีสันต่าง ๆ เต็มไปหมด ประชาชนชาวบึงบอระเพ็ด ยังคงเดินทางมากราบไหว้สักการะ เพื่อขอให้เจ้าแม่คุ้มครอง และประทานโชคลาภจนถึงทุกวันนี้
ทุกอย่างเสื่อมคลายตามกาลเวลา
แม้ว่าปัจจุบันความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่หมอนทอง ได้เสื่อมคลายลงไปบ้างแล้ว เพราะเรือของเจ้าแม่ลำหนึ่งนั่นคือ ไอ้ดำ ได้ถูกสังหารและถูกนำมาสต๊าฟไว้ที่บริเวณ แพบึง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 แล้วจระเข้บริวารของเจ้าแม่ได้ถูกไล่ล่าจนหมดสิ้น แต่ผู้อยู่แถวบึงบอระเพ็ดยังเชื่อว่า เรืออีกลำของเจ้าแม่ยังคงอยู่ นั่นคือ ไอ้ด่าง ส่วนจะอยู่ที่ไหนในบึงบอระเพ็ด ก็คงขึ้นอยู่กับเจ้าแม่หมอนทอง ผู้ดูแลบึงบอระเพ็ดแล้ว แม้ว่าความเชื่อเรื่องเจ้าแม่หมอนทองจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เจ้าแม่หมอนทองก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนบึงบอระเพ็ดตลอดกาล ประวัติของบึงบอระเพ็ดที่ได้อ่านไปนั้น เป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาหลายปี บวกกับความเชื่อของคนบึงบอระเพ็ดเข้าไปด้วย ทำให้เห็นถึงคติความเชื่อของผู้คนกับสายน้ำ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน หากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบึงบอระเพ็ดเพื่อการดำรงชีวิต ไม่เบียดเบียนกันมากเกินไป จนทำให้สมดุลธรรมชาติเสียไป ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมจะยังสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่เมื่อใดที่มีฝ่ายหนึ่งโดนทำร้ายมากเกินไป เช่น ธรรมชาติถูกทำลาย เขาก็จะวกกลับมาทำร้ายให้มนุษย์อย่างเราหายสาบสูญไปได้ด้วยเช่นกัน เหมือนเช่นต้นมะม่วงหมอนทอง และศาลเจ้าแม่หมอนทองนั่นเอง