ด้วยการระบาดหนักของไวรัส COVID-19 ซึ่งยากต่อการควบคุม จึงทำให้ชาติตะวันตกหลายชาติหันมาประนมมือทักทายไหว้แบบชาวพุทธกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวด้วยการจับมือ
พะนอม แก้วกำเนิด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การไหว้ เป็นการแสดงออกโดยธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อแสดงความรักและเคารพต่อกัน สำหรับวัฒนธรรมการไหว้ของไทย มีมาแต่เมื่อไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด คาดว่าน่าจะรับมาจากอารยธรรมอินเดียผ่านศาสนาพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ซึ่งมีการประนมมือเช่นเดียวกันนี้ไม่น้อยกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นภาพในตราประทับซึ่งทำจากดินเหนียวแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อชาวไทยได้รับวัฒนธรรมการไหว้มา ก็ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต เวลา และสถานที่ จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมหนึ่งของไทย
https://th.wikipedia.org/wiki/การไหว้
สำหรับในพระพุทธศาสนาเองก็มีคำว่า ประนมมือ (อัญชลี) ไหว้ (วันทา) กราบ (อภิวาท) หากคำว่า อัญชลี มาคำเดียว อาจจะหมายถึงได้ทั้ง 3 อย่าง คือ ประนมมือไหว้ หรือกราบไหว้ อย่างที่ปรากฏในบท สังฆคุณว่า “อัญชลีกรณีโย” ซึ่งแปลว่า “พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้” ฉะนั้น การไหว้จึงเป็นประเพณีการแสดงความเคารพนอบน้อมอย่างหนึ่งในสังคมพระพุทธศาสนา ใช้ทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท หากพระพุทธศาสนาเข้าไป ณ ประเทศใด จึงมีวัฒนธรรมการไหว้เข้าไปด้วย
คำว่า นมัสเต เป็นศัพท์ที่ใช้ในภาษาฮินดี ซึ่งมาทีหลังคำว่า อัญชลี ซึ่งเป็นภาษาบาลี แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า นมัสเต นั้น ก็มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาเก่าแก่เช่นเดียวกัน
นมัสเต เป็นคำกล่าวทักทาย หากแปลตามตัว แปลว่า นอบน้อมคุณ หรือ นับถือคุณ เป็นคำกล่าวทักทายที่แสดงออกทางวาจา เหมือนคำว่า สวัสดี ในภาษาไทย หรือคำว่า Hello ในภาษาอังกฤษ
ส่วนการไหว้นั้น เป็นการแสดงออกทางกาย คือการประนมมือ บาลีใช้คำว่า อัญชลี หรือ วันทา สันสกฤตใช้คำว่า อัญชลีมุทรา
แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำพร้อมกันได้ อย่างที่คนไทยยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวคำว่า สวัสดี คนอินเดียก็เช่นกันทำ อัญชลีมุทรา พร้อมกับกล่าวคำว่า นมัสเต
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า นมัสเต คือคำกล่าวทักทายทางวาจา และใช้เฉพาะคนอินเดียที่ใช้ภาษาฮินดี หรือกลุ่มคนที่ใช้ภาษาฮินดี ส่วนการไหว้นั้นเป็นกิริยาที่แสดงออกทางกาย ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเคารพและคำทักทาย ใช้กันหลายประเทศ แม้ประเทศนั้นจะไม่ได้ใช้ภาษาฮินดีก็ตาม เป็นต้นว่า ศรีลังกา, เนปาล, ภูฏาน, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังใช้ในหมู่ชาวพุทธในเอเชียตะวันออก ลัทธิเต๋าและชินโต ในหมู่ผู้ฝึกโยคะและกลุ่มคนของประเพณีที่คล้ายคลึงกันอีกด้วย