พระเหยียบข้าวกล้า เป็นเหตุให้จำพรรษาจริงหรือ?
ในเรื่องการจำพรรษานั้นปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ความว่า ” โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงบัญญัติการจำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน.
คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้เที่ยว จาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็ก ๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า ก็พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เหล่านี้เป็นผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพัก ยังอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน อนึ่ง ฝูงนกเหล่านี้เล่า ก็ยังทำรังบนยอดไม้ และพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เหล่านี้ เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็ก ๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวาย. ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษา”
จากข้อความข้างบนในพระไตรปิฎกใช้คำว่า “ติณชาติ” ซึ่ง “ติณชาติ” นี้คือต้นหญ้า บางแห่งหมายถึงหญ้าแพรก อย่างที่ปรากฎใน คัมภีร์พระไตรปิฎก (อัง.จตุ.๒๒/๑๙๖/๓๓๕) ข้อความว่า “อนภิสมฺพุทฺธสฺส โพธิสตฺตสฺเสว สโต ติริยา นาม ติณชาติ” บางทีก็แปลกันว่าหญ้าคา สรุป “ติณชาติ” ก็คือหญ้า แต่จะหมายถึงหญ้าอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ทำไม…..เรา ๆ ท่าน ๆ จึงแปลกันว่า พระในสมัยนั้นไปเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้านเขา จนทำให้มองว่าพระภิกษุเหล่านั้นช่างไม่รู้อะไรเลย
วิเคราะห์เรื่องพระเหยียบข้าวกล้า
1.พระภิกษุเหล่านั้น ท่านมีการศึกษา หลายรูปเป็นพระอรหันต์ท่านไม่รู้เชียวหรือว่าอันไหนเป็นเป็นข้าวกล้าที่ชาวบ้านรักษา เพาะปลูกไว้ อันไหนเป็นหญ้าตามธรรมชาติ
2.ถ้าใช้คำว่าเหยียบหญ้า (ติณชาติ) ผู้เขียนพอเข้าใจเพราะเห็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก แต่นี่มากล่าวว่าเหยียบข้าวกล้า อ่านทีไรเจ็บแปล๊บในใจเหมือนกัน
3.เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาของชาวบ้าน ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา แต่อาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ อย่างชาวบ้านเห็นภาพถ่ายของพระฉันกาแฟในร้าน หรือภาพพระฉันภัตตาหารภาพสลัว ๆ หน่อย ชาวบ้านก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาต่าง ๆ นานา กล่าวหาว่าพระฉันอาหารในเวลากลางคืนบ้าง หาว่าพระเที่ยวบ้าง ทั้ง ๆ ที่ไปแบบกิจลักษณะ
เรื่องมูลเหตุการจำพรรษาก็เหมือนกัน ชาวบ้านอาจจะเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาจริง แต่สิ่งนั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ได้ อาจจะมีคนแย้งว่า แล้วทำไมพระพุทธเจ้าถึงบัญญัติการจำพรรษา จริง ๆ พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “อนุญาต” ลองอ่านข้างบนอีกทีก็ได้ พระพุทธเจ้าทรงอาศัยเหตุนี้อนุญาตการจำพรรษา เพื่อให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หรือประเพณี
ฝากเรื่องนี้ไว้ด้วยนะครับ ประเด็นของการเขียนเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ถ้ามีคนถามว่าทำไมพระเหยียบข้าวกล้าชาวบ้าน ก็ต้องหาวิธีตอบหรือคำตอบที่ดี แต่ถ้ามีคำถามว่าทำไมพระต้องจำพรรษา ซึ่งมันคนละคำถามกับข้างบน และตอบได้ง่ายกว่าข้อแรก