กฐิน ใช้คำว่าทอด หรือถวายดี
ช่วงนี้เทศกาลกฐิน คำว่ากฐินนั้นโดยเฉพาะในภาษาเขียนแล้ว ควรจะใช้คำว่า “ถวายผ้ากฐิน” ส่วนคำว่าทอดนั้น ใช้กับทอดผ้าป่าน่าจะเหมาะกว่า เพราะผ้าป่าเดิมทีคือผ้าที่ถูกเขาทอดทิ้งไว้ในที่ต่าง ๆ เช่น ข้างถนน หรือป่าช้า เป็นต้น เมื่อพระไปพบเข้าและต้องการนำมาใช้ประโยชน์ก็พิจารณาบังสุกุล เป็นบังสุกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่น จากนั้นจึงนำมาใช้ตัดเย็บเป็นจีวรตามความประสงค์ ต่อมาชาวบ้านไม่ต้องการให้พระลำบากในการเที่ยวหาผ้าเช่นนั้น จะนำไปยกประเคนถวายพระบางรูปที่ท่านถือถ้าบังสุกุลเป็นวัตรท่านก็ไม่รับหรือรับแต่ไม่ใช้
ชาวบ้านจึงนำผ้าที่จะถวายนั้นไปทอดทิ้งไว้ในที่พระจะมองเห็นได้ เช่น ทางเดินจงกรม หน้าวัด หน้ากุฎิ บนโลงศพ หรือนำมาทอดทิ้งไว้ข้างหน้า อย่างที่พระทำพิธีบังสุกุล ที่เราเข้าใจว่าพระทำพิธีสวดให้คนตายนั่นแหล่ะ จริง ๆ แล้ว ผู้เขียนอยากจะบอกว่าไม่ใช่ เป็นการพิจารณาผ้าบังสุกุลหรือผ้าป่าเท่านั้น แต่การทำอย่างนั้นโยมก็ได้บุญ แล้วโยมก็ทิศบุญนั้นอีกที ผ้าป่าจริงๆนั้น ไม่มีการกล่าวคำถวาย ไม่มีการยกขึ้นประเคน
แต่ ผ้ากฐิน มีการกล่าวคำถวาย มีการยกขึ้นประเคนด้วยมือ กฐินจึงควรใช้คำว่าถวาย คือถวายผ้ากฐิน สังเกตง่าย ๆ ใครดูข่าวทีวี จะเห็นข่าวประมาณว่า “….เสด็จถวายผ้าพระกฐิน….” จะไม่มีคำว่า “…เสด็จทอดผ้าพระกฐิน…..”