อานิสงส์ของการเดินจงกรม ๕ ประการ
เมื่อเราเข้าไปในวัดสายกรรมฐาน โดยเฉพาะวัดที่มีพื้นที่กว้างขวาง ตั้งอยู่ในป่าหรือบนภูเขา เรามักจะเห็นทางเดินจงกรมของพระซึ่งจะอยู่ข้างกุฏิในแต่ละหลัง
ทางเดินจริงกรมนั้น โดยปกติจะทำแนวเดียวกับเส้นทางที่ดวงอาทิตย์โคจร คือจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก มีขนาดยาวประมาณ 2,000-3,000 เซนติเมตร กว้างประมาณ 50-80 เซนติเมตร อาจจะปรับพื้นที่ให้สูงขึ้นนิดหน่อย เกลี่ยวด้วยทรายละเอียดเพื่อให้เดินง่าย ไม่เจ็บเท้า
กล่าวโดยย่อ การเดินจงกรมคือการกลับไปกลับมาด้วยความสำรวม กาย วาจา และ ใจ ในเส้นทางที่กำหนดไว้ แต่เมื่อให้เป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจว่าสำรวมนั้นสำรวมอย่างไร ทำอย่างไรจึงเรียกว่าสำรวม ครูอาจารย์ทั้งหลายจึงได้กำหนดวิธีการเดินจงกรม ซึ่งแต่ละสำนักอาจจะแตกต่างกันในวิธีการบริกรรมภาวนา แต่ในรูปแบบของการเดินจงกรมนั้นเหมือนกัน ซึ่งในบทความนี้ผมจะยังไม่กล่าวถึงวิธีการเดินจงกรม
ท่านจะเดินจงกรมตามแบบสำนักใดก็ตาม ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการเหมือนกัน
อานิสงส์การเดินจงกรม
ในคัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าได้ตรัสอานิสงส์ หรือประโยชน์ของการเดินจงกรมไว้ว่า มี ๕ ประการ คือ
๑. เป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล
๒. เป็นผู้อดทนต่อการทำความเพียร
๓. เป็นผู้มีอาพาธน้อย
๔. อาหารที่บริโภคเข้าไป ย่อยง่าย
๕. สมาธิที่ได้ในขณะเดินจงกรมอยู่ได้นาน
อธิบายเพิ่มเติมสำหรับอานิสงส์ทั้ง ๕ ประการของการเดินจงกรมนี้
๑. เป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล คือการเดินจงกรมนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นผู้อดทนในการเดินทางไกล คือเดินได้ทน เดินได้นาน และเดินได้ไวด้วย เพราะมีร่างกายแข็งแรง เนื่องจากฝึกเดินเป็นประจำ
๒. ทนต่อการทำความเพียร คือการเดินจงกรมนี้ ทำให้เป็นคนอดทนต่อการทำความเพียร คำว่า “ทำความเพียร” ในที่นี้ หมายถึงผู้ทำความเพียรเพื่อชำระจิตให้สงบ เพื่อทำลายกิเลส หรือเพื่อพัฒนาจิต เพราะผู้ที่ฝึกจิต ถ้าเพียงแต่นั่งอย่างเดียว ไม่เดินจงกรมเลย จะนั่งไม่ได้นาน เพราะความเมื่อยขบมักจะมีมาก แต่ถ้าหากว่าผู้ฝึกจิตเดินจงกรมสลับกับการนั่ง จะทำให้การทำสมาธิเป็นไปได้นาน นักปฏิบัติจึงมักจะใช้การเดินจงกรมสลับกับการนั่ง เพราะทำให้อดทนได้ และปฏิบัติติดต่อกันได้เป็นชั่วโมง หรือแม้แต่เป็นวันก็ยังทำได้ และจะทำให้การฝึกจิตได้ผลไวขึ้น
๓. เป็นผู้ที่มีอาพาธน้อย คือ ใครก็ตามที่เดินจงกรมอยู่เสมอเป็นประจำ จะมีสุขภาพสมบูรณ์แน่นอน ดังที่นายแพทย์ทั้งหลายแนะนำให้ประชาชนออกเดินเล่นในตอนเช้า ๆ เพื่อออกกำลังกายและเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ โดยชี้ให้เห็นผลของการเดินว่า ทำให้โรคหลายชนิดหายไปได้ เช่น โรคเบาหวาน ทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ค่อยเจ็บป่วย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบคุณประโยชน์ของการเดินนี้มาด้วยพระองค์เอง ก่อนแพทย์ในปัจจุบันเป็นเวลานานถึง ๒,๕๐๐ ปีกว่ามาแล้ว แต่ไม่ใช่ทรงสอนให้เดินเล่นอย่างคนทั่วไปเดินกัน แต่ทรงสอนให้เดินจงกรม เพื่อบริหารจิตเป็นสำคัญ และทำให้เป็นผลดีแก่การบริหารกายด้วย ฉะนั้น ผู้เดินจงกรมจึงมีอาพาธน้อย มีสุขภาพดี ทำให้มีอายุยืน
๔. อาหารที่บริโภคเข้าไปย่อยง่าย คือใครก็ตามถ้ารับประทานอาหารแล้ว มัวแต่นั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือไม่ค่อยทำงาน การย่อยอาหารก็ไม่ค่อยสะดวก เพราะร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ร่างกายก็ใช้พลังงานน้อย อาหารที่บริโภคเข้าไปมักจะตกค้างอยู่ทำให้เกิดอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อได้ง่าย แต่ถ้าเดินหรือทำงานอันเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายมาก การย่อยอาหารในร่างกายก็สะดวก ย่อยง่าย ไม่ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นเหตุส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น ทำให้ไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะการเดินจงกรมทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมา ย่อยอาหารประเภทต่าง ๆ ได้ง่าย
๕. สมาธิที่ได้ในขณะเดินจงกรมอยู่ได้นาน ข้อนี้เป็นอานิสงส์โดยตรงของการเดินจงกรม ถ้าใครเคยฝึกการเดินจงกรมแล้วจะเห็นอานิสงส์ข้อนี้ชัด คือจิตของผู้ที่เดินจงกรมแล้วไปนั่งสมาธิ จะสงบไวกว่าผู้ที่นั่งแล้วไปเดินจงกรม ข้อนี้อาจจะเป็นเพราะเลือดลมเดินสะดวกหรือเพราะจิตมีสติควบคุมให้สงบเป็นพื้นมาก่อนแล้วนั่ง จึงทำให้จิตใจสงบไวและสงบได้ง่ายกว่านั่งสมาธิอย่างเดียว สมาธิที่ได้ในขณะเดินจงกรมนี้ ดำรงอยู่ได้นาน คือเสื่อมยาก
สำหรับเรื่องอานิสงส์ของการเดินจงกรมนั้น พระศาสดานำมาแสดง ๕ ประการ แต่ไม่ได้หมายความว่าผลดีหรือประโยชน์ของการเดินจงกรมนั้นจะมีแค่นี้เท่านั้น เพราะเมื่อเดินจงพร้อมกับการภาวนา อาจเป็นได้ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นหนทางสู่มรรคผลนิพพานต่อไปได้ อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติบูชาอีกด้วย
ที่มา : สาขาวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น