ตะกรุดหลวงปู่มั่น ตำนานที่รอการพิสูจน์
หลายท่านเข้ามาอ่านแล้วอาจจะรู้สึกไม่สบายใจ พระคุ้มครองเอาอะไรมาให้ดู เพราะสิ่งที่เรารับรู้กันมาคือหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านไม่สร้างเครื่องรางของขลัง บทความนี้จึงขอใช้คำว่า กิร ได้ยินว่า ตะกรุดดอกนี้เดิมทีอยู่กับคนที่เคยขับรถรับส่งหลวงปู่ฝั้น อาจาโร (ที่มาบอกว่าอย่างนั้น ไปหาสืบเองละกันว่าใคร คงมีไม่กี่คนมั้งในสมัยนั้น แต่เสียดายคนเหล่านั้นเสียชีวิตไปแล้ว) ซึ่งเขาบอกว่าได้รับตะกรุดนี้จากมือหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตะกรุดนี้อยู่กับเขาหลายปีจนตกทอดมาสู่นายช่างคนหนึ่ง (ผมลืมจำไม่ได้ว่าคนสกลนครหรือนครพนม) จากนั้นตะกรุดนี้ก็มาอยู่กับนักสะสมแลกเปลี่ยนพระเครื่องสายหลวงปู่ฝั้นท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ครอบครองคนปัจจุบัน (โดยส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะถูกเปลี่ยนมือมากกว่านั้น แต่อาจจะไม่นาน ไม่สำคัญนักเขาจึงไม่เล่าให้ฟัง)
เนื่องจากผมไม่ใช่เจ้าของตะกรุด ผมขอถ่ายรูปเพื่อนำมาเขียนบทความ จึงเขียนในทางบวกหรือลบมากเกินไปไม่ได้ จึงต้องเขียนตามที่รู้มาจากเจ้าของผู้ครอบครองตะกรุดนี้
บางท่านอาจจะคิดว่า อย่าทำร้ายหลวงปู่มั่นเลย อย่ายัดเยียดให้ท่านเลย ไม่เคยได้ยินว่าท่านทำเครื่องราง ผมไม่ได้ทำร้ายท่าน ผมไม่ได้บอกว่าท่านทำ แค่บอกที่มาของตะกรุดเท่านั้นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ส่วนท่านจะทำหรือไม่ เราทราบแต่ว่าไม่เคยยินได้ฟังมา หลายคนที่มาอ่านก็เกิดไม่ทันยุคท่าน
การที่หลวงปู่จะเขียนอักขระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าลงบนใบลาน กระดาษ ผ้า หรือแผ่นทองแดง ไม่ได้ทำให้คุณธรรมของหลวงปู่ลดน้อยถอยลงแม้แต่น้อย เพราะเจตนาที่ท่านเขียนกับเจตนาของบุคคลผู้นำไปใช้แตกต่างกัน ท่านอาจจะเขียนด้วยเจตนาเพื่อเป็นการบูชาพระธรรม แต่เรานำไปใช้เป็นเครื่องรางของขลังเสีย ยกตัวอย่าง ชานหมาก ไม้ชำระฟัน หรือข้าวบาตร หลวงปู่ครูอาจารย์ทั้งหลายพิจารณาฉันภัตตาหารเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเพื่อสะดวกแก่การปฏิบัติธรรมและการอนุเคราะห์โลก แต่เรานำข้าวก้นบาตรท่านมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง นำไปแปรรูปเป็นพระเครื่อง เครื่องรางของขลังแจกจ่ายขายก็มี ไม้เจียหรือไม้ชำระฟันก็เหมือนกัน ท่านมีไว้ชำระสิ่งสกปรกออกไป แต่คนได้ไปนำไปใช้เป็นเครื่องรางตัดแบ่งกันขายก็มี แม้แต่เหรียญหลวงปู่ฝั้นเอง เจตนาในการสร้างหรือในการแจกจ่ายของท่าน กับเจตนาของผู้รับผู้ครอบก็ย่อมแตกต่างกัน จิตของผู้ให้และผู้รับย่อมมีความแตกต่างกัน
ในส่วนของตะกรุดนี้ ผมจึงไม่ขอสรุปว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะเราไม่อยู่ในเหตุการณ์ คือเป็นไปได้หมด ท่านอาจจะเขียนบันทึกธรรมคำสอน หรือทบทวนอักขระอักษรต่าง ๆ แต่คนขับรถหลวงปู่ฝั้นมาเจอเข้าและขอไว้ก็เป็นไปได้ แต่หากพิจารณาดูความเก่าของเนื้อโลหะแล้ว มีอายุถึงยุคหลวงปู่มั่น
ว่าจะจบแต่ไม่จบ เพราะนึกได้ว่าเคยอ่านบทความหนึ่งซึ่งท่านผู้นั้นเขียนถึงวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของหลวงปู่มั่นในบทความที่ชื่อว่า ความจริงที่สวนทางกับความเชื่อ ใครว่าพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ไม่มีวัตถุมงคล อยากให้ท่านได้เข้าไปอ่านและศึกษาดู
นึกขึ้นได้อีกแล้ว เจ้าของผู้ครอบครองตะกรุดนี้ เขาก็ให้ความเห็น 2 ประการ 1.เป็นตะกรุดหลวงปู่มั่นจริงตามนั้น 2.เป็นของหลวงปู่ฝั้น เพราะก่อนนั้นมีผู้เคยแกะดูแล้ว เป็นอักขระที่หลวงปู่ฝั้นเคยจารเช่นกัน