หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเมื่อกล่าวถึงสัทธาแล้วต้องมีปัญญากำกับอยู่ในหลักธรรมนั้นเสมอ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อมีความเชื่ออย่างเดียวโดยไม่มีปัญญาก็จะเป็นความเชื่อที่งมงาย (Blind Faith) ปราศจากเหตุผล (Cause and Effect) และการพิสูจน์ เพราะฉะนั้นความเชื่อจึงเป็นลักษณะความรู้แบบหยาบ ๆ โดยไม่ผ่านการเจียระไนทางความคิดหรือไม่ผ่านการไตร่ตรองด้วยโยนิโสมนสิการ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเรื่องศรัทธาไว้ที่ไหนก็จะมีปัญญามาพร้อมด้วยทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เชื่อเกิดความงมงาย
หลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
ในเรื่องของความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา พุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในหลักกาลามสูตร ดังที่ปรากฎในเกสปุตตสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต แต่คนส่วนมากมักจะเรียกว่ากาลามสูตร(องฺ.ติก. 20/505/212) ซึ่งเป็นพระสูตรสำคัญที่พระพุทธเจ้าแสดง ณ เกสปุตตนิคม มีใจความสรุปว่า
เกสปุตตะเป็นนิคมแห่งหนึ่งในแคว้นโกศลชาวนิคมนี้เป็นที่รู้จักกันว่าชาวกาลามะ เมื่อชาวกาลามะได้สดับว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมายังนิคมของตน จึงมาเฝ้าพระองค์เพื่อขอคำแนะนำและกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้นพูดประกาศแต่เฉพาะทรรศนะของตนเท่านั้น ส่วนทรรศนะของผู้อื่น ช่วยกันตำหนิ ดูหมิ่น ประณาม ทำให้ไม่น่าเชื่อ สมณพราหมณ์พวกอื่น ๆ ซึ่งมายังเกสปุตตนิคมก็ทำในลักษณะเดียวกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์มีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ”พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนชาวกาลามะทั้งหลาย ถูกแล้วที่ท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่ควรเคลือบแคลงสงสัย มาเถิด ท่านทั้งหลาย
1. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
2. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะถือสืบ ๆ กันมา (มา ปรมฺปราย)
3. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะเล่าลือ (มา อิติกิราย)
4. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะอ้างตำราหรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
5. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)
6. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะคาดคะเน (มา นยเหตุ)
7.อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะตรึกตามอาการ (มา อาการปริวิตกฺเกน)
8. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะเข้ากันได้กับความเห็นของตน (มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
9. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะผู้พูดสมควรเชื่อได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
10. อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครุ)
เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ติเตียน ไม่เป็นประโยชน์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละสิ่งเหล่านั้นเสีย
แต่ในกรณีตรงกันข้าม เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล ไม่มีโทษ ผู้รู้สรรเสริญ เป็นประโยชน์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรปฏิบัติสิ่งเหล่านั้น”
ความเห็นถูก-ผิด ในทางพระพุทธศาสนา
จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าเริ่มการสอนไม่ใช่ยัดเยียดให้เขาเชื่อ ยัดเยียดให้เขานับถือ แต่เป็นการสอนให้เห็นข้อเท็จจริงและรู้ประจักษ์พิจารณาด้วยปัญญาของตนเอง ไม่มีการชักจูงแต่อย่างใด เพียงแต่แนะแนวทางให้คนนำไปสู่ในการประพฤติในทางที่ถูกต้อง อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอปัณณกสูตร(ม.ม.13/92/95) ซึ่งเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการปฏิบัติไม่ผิด พระองค์ทรงวางแนวทางของการสมาทานที่ถูกต้องและทรงชี้โทษแห่งการสมาทานที่ผิดแก่พวกพราหมณ์และคหบดีที่อยู่ในหมู่บ้านสาลา ซึ่งในขณะนั้นพวกชาวบ้านยังงุนงงสงสัยกับเจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่ต่างเสนอลัทธิของตนว่าลัทธิของเราถูก ลัทธิของคนอื่นผิด จนทำให้ชาวบ้านเกิดความสงสัยและยังไม่สมาทานเอาความเชื่อของลัทธิใด ๆ มานับถือ พระพุทธเจ้าก็ทรงให้ชาวบ้านสาลาสมาทานอปัณณกธรรม ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
ทิฎฐิที่ไม่ควรสมาทานถือเอา
1.นัตถิกทิฎฐิ คือผู้มีความเห็นว่าไม่มี ปฏิเสธเรื่องบุญ บาป ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ เป็นต้น
2.อกิริยทิฎฐิ คือผู้ที่มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความลำบาก หรือความสบายก็ตาม ไม่ได้อาศัยเหตุใด ๆ ให้เกิดขึ้นเลย เป็นไปเองทั้งนั้น
3.อเหตุกทิฎฐิ คือผู้ที่มีความเห็น”ปฏิเสธเหตุ”ไม่เชื่อว่ากรรมดี หรือกรรมชั่วที่สัตว์ทั้งหลายได้กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลได้
ทิฎฐิที่ควรสมาทานถือเอา
1.อัตถิกทิฎฐิ คือ ผู้ที่มีความเห็นว่า บาป บุญ คุณ โทษมีจริง ทานที่ให้แล้วก็มีผล ยัญที่บูชาแล้วก็มีผล กานเซ่นสรวงก็มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีหรือทำชั่วก็มีอยู่ เป็นต้น
2.กิริยทิฎฐิ คือ ผู้ที่มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่ได้รับความลำบากได้รับความลำบากต่าง ๆ ย่อมอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเอง
3.เหตุกทิฎฐิ คือ สรรพสัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่ มีเหตุนำ เหตุหนุน เหตุเนื่องอยู่เบื้องหลัง ไม่ปฏิเสธเหตุ และเชื่อว่า กรรมดี หรือกรรมชั่วที่สัตว์ทั้งหลายทำกันอยู่ จะเป็นเหตุให้เกิดผลได้ ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัย
อิทธิพลของความเชื่อที่มีผลต่อการประพฤติศีลธรรม
ความเชื่อถือว่ามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากเราเชื่อในสิ่งที่ถูก มันก็เป็นปัจจัยนำให้เราประพฤติไปในทางที่ถูกต้อง แต่ในทางกลับกันถ้าหากเราเชื่อในทางที่ผิดมันก็เป็นปัจจัยนำเราประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ไม่ดีได้เช่นกัน อย่างที่กล่าวมาถ้าหากว่า บุคคลถือเอาความเห็นของ นัตถิกทิฎฐิ,อกิริยทิฎฐิ และอเหตุกทิฎฐิ ทิฎฐิทั้งสามนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าพวกเขาเหล่านี้ย่อมจักเว้นกุศลธรรม 3 ประการ ได้แก่
1. กายสุจริต
2. วจีสุจริต
3. มโนสุจริต
บุคคลที่ถือเอาความเห็นต่าง ๆ เหล่านี้ดั่งที่กล่าวแล้ว เมื่อสมาทานถือเอาความเชื่อที่ผิดก็จะเป็นมิจฉาทิฐิคือมีความเห็นผิด อย่างสำนวนไทยว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไม่มีการประพฤติชอบ กอปรด้วยมนุษยธรรมทางกาย วาจาและใจ กล่าวคือ
ทางกาย พวกเขาเหล่านั้นจักประพฤติทุจริตมี การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนหรือย่ำยีบีฑาสิ่งมีชีวิตด้วยกัน มีการลักทรัพย์ทุจริตคอรัปชั่นและประพฤติผิดในกาม มีชู้ ประพฤตินอกใจ ละเมิดต่อจริยธรรมทางเพศ เป็นต้น
ทางวาจา พวกเขาเหล่านั้นจักประพฤติทุจริต มีการพูดจาโกหกหลอกลวง หยาบคาย ให้สะเทือนใจแก่ผู้รับฟัง หรือทำให้ผู้ฟังโกรธ อีกทั้งพูดจาส่อเสียด ยุยุงให้ผู้อื่นร้าวแตกกัน และเวลาจะพูดอะไรก็จะไร้สาระไม่เกิดประโยชน์
ทางใจ พวกเขาเหล่านั้นก็จักประพฤติทุกจริต มีการคิดอยากได้ของผู้อื่นโดยที่เจ้าของไม่อนุญาต คิดที่จะลักขโมย ยื้อแย่ง อยากจะคดโกง ทุจริตคอรัปชั่น คิดผูกอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรมกับผู้อื่น
ส่วนบุคคลที่ถือเอาทิฐิทั้ง 3 อย่างมี อัตถิกทิฐิ,กิริยทิฐิและเหตุกทิฐิ ทิฎฐิที่ถูกต้องควรสมาทานถือเอาปฏิบัติ พวกเขาเหล่านั้นก็จะพฤติสุจริต มีการเว้นจากอกุศลธรรมสามประการดั่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
พระมหาสมชาย มหาวีโร
นักศึกษาปริญญาโท ปี 1
สาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา
มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย
24/07/53
อ้างอิง
กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา.2514
ที่มา : Cybervanaram.net หลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนา