ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตบุคคลที่อยู่ในภาพ ญาติของบุคคลที่อยู่ในภาพ เจ้าของภาพ ผู้ครอบครองภาพต้นฉบับนี้ ซึ่งผมมีความจำเป็นที่ต้องนำมาภาพของท่านมาประกอบบทความ
สืบเนื่องเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมเห็นภาพที่อยู่ด้านซ้ายมือของท่านนี้ถูกแชร์ผ่าน facebook ซึ่งในภาพมีข้อความประกอบบว่า “ภาพหลวงปู่ทวด เมื่อ 300 ปี พ.ศ. 2263 ฝรั่งถ่ายไว้ได้ ใครเห็นถือว่าเป็นบุญวาสนา” เป็นไปได้หรือครับ เรามาวิเคราะห์ดู
1. จากภาพไม่น่าจะเป็นผลจากเทคโนโลยีเมื่อปี พ.ศ. 2263 หมายความว่า สมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีการบันทึกภาพด้วยวิธีนี้ มีแต่การบันทึกด้วยการวาดภาพด้วยวัสดุที่เขียดเขียนได้
2. ปี พ.ศ. 2263 ตรงกับปี ค.ศ. 1720-1721 น่าจะยังไม่มีกล้องถ่ายรูปด้วย ถ้ามีที่ใดในโลก ก็น่าจะเป็นแบบใช้ในห้องถ่ายภาพขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ (แต่ตามประวัติ ปี ค.ศ. 1720 ยังไม่มีกล่องถ่ายรูป)
3. มีผู้รู้บอกว่า กล้องถ่ายภาพนั้นประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ.2384 (ประมาณปี ค.ศ.1841-1842) ถูกนำเข้ามาในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ.2388 ( ร. 3 ราวปี ค.ศ. 1845) โดยบาทหลวงลาร์นอดี นำเข้ามาตามคำสั่งของบาทหลวงปาเลอกัว แห่งวัดคอนเซปชั่น สามเสน
4. คนสมัยก่อน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ให้ความเคารพพระเป็นอย่างมาก จะไม่นั่งเสมอพระโดยเด็ดขาด ยิ่งเป็นหลวงปู่ทวด ผู้เป็นถึงสมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (ปู สามีราโม) หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ คงจะไม่มีฆราวาสท่านใดนั่งเสมอท่าน นั่งบนอาสนะเดียวกันกับท่าน ยกเว้นพระเถระที่พรรษามากกว่าหรือไล่เลี่ยกัน แม้ทุกวันนี้ ฆราวาสก็จะไม่นั่งเสมอพระ ไม่นั่งอาสนะเดียวกันพระสงฆ์ บุคคลทั้งสองในภาพนี้จึงน่าจะเป็นฆราวาสทั้งสองคน
5. จากประวัติหลวงปู่ทวด เกิดเมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ. 2125 มรณภาพเมื่อ มรณภาพ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 ไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย ก่อนปี พ.ศ. 2263 เป็นอย่างมาก
จากนั้นผมจึงได้ใช้ภาพดังกล่าวค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้พบภาพต้นฉบับที่ถูกอ้างว่าเป็นภาพหลวงปู่ทวด ตามภาพข้างบนนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นภาพถ่ายเก่าที่ถูกแต่งมาเพื่อให้ถูกมองว่าเป็นภาพพระสงฆ์
ผมเชื่อว่าผู้ถือครอบครองภาพนี้ หรือญาติของบุคคลในภาพนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตกแต่งภาพนี้อย่างแน่นอน เพราะได้เจอข้อความที่เขาได้โพสต์อธิบายไว้ และให้ช่วยแชร์บอกต่อกันไป เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป (ภาพข้างล่างนี้ ผมนำมาจาก facebook แห่งหนึ่ง หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ท่านถูกแอบอ้าง หรือ สร้างความเสียหายให้แก่ท่าน โปรดแจ้งเรา เราจะทำการลบออก)
การนำภาพเก่ามาแอบอ้างเป็นภาพถ่ายคนดัง มีชื่อเสียงนั้น ไม่ใช่เพิ่งมี มีมานานแล้ว อย่างเช่น ภาพถ่ายพระพุทธเจ้าซึ่งถูกอ้างว่าถ่ายโดยฝรั่งชาวอังกฤษที่พุทธคยาทำให้ชาวพุทธหลายคนหลงเชื่อหรือเล่าต่อ ๆ กันมานอกจากนั้นก็มีภาพถ่ายเก่าหลายภาพที่ถูกอ้างว่าเป็นภาพถ่ายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
การกราบไหว้ในสิ่งที่เราเคารพนับถือนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องในสิ่งที่เราเคารพกราบไหว้ด้วยสติปัญญานั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่า