วีใบตาล (พัดใบตาล) เป็นหนึ่งในบริขารของพระสงฆ์เมืองล้านนา ใช้ได้อเนกประสงค์ บังแดด พัดรำเพยลมบรรเทาความร้อน ไล่แมลงไม่ให้รบกวน บังหน้าเวลาสวด เวลาปั๋นปอน บ่ใจ่ว่า ตุ๊เจ้าต๋นใดถือวีใบตาลแล้วจะเป็นครูบาหมด ปากันว่าหื้อกันฮีตฮอยก็จะหายไปเหียหมด
ในพระไตรปิฎกฉบับประชาชน เล่มที่ ๗ ชื่อ จุลวัคค์ กล่าวถึง พัดใบตาล พัดขนหางนกยูง เป็นหนึ่งในสามพัดที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้ได้
การถือพัดใบตาลนี้เป็นธรรมเนียมที่พระสงฆ์ล้านนาใช้สืบต่อกันมาจากลังกาแต่สมัยโบราณเช่นเดียวกับการห่มจีวรแบบรัดอก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานความเห็นไว้นำมาพิมพ์ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๓๒ เรื่องที่ ๑ พ.ศ ๒๕๕๓ หน้า ๑-๑๐ ว่า “พระสงฆ์ถือตาลปัตรคงมาจากลังกาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เพราะพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เป็นที่เลื่อมใสทั้งใน พม่า ไทย ลาวและกัมพูชา ด้วยเหตุนี้นอกจากพระสงฆ์ล้านนาแล้วในปัจจุบันยังเห็นพระสงฆ์พม่า ศรีลังกา ใช้พัดใบตาลด้วนเช่นกัน”
ธรรมเนียมการถือวีใบตาลของพระสงฆ์ล้านนาในอดีตมีนิยมกันดังนี้
- พรรษาแรกจนถึง ๓๐ พรรษา จะใช้วีใบตาล (น่าจะหมายถึงยังไม่ครบ ๓๐ พรรษาเต็ม ไม่งั้นจะซ้ำซ้อนกับข้อที่ ๒)
- เมื่อครบ ๓๐ พรรษาขึ้นไปจะเปลี่ยนเป็นวีหางนกยูง
การใช้พัดของพระสง์ล้านนาตามที่กล่าวมานี้เป็นคติดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในกลุ่มวัฒนธรรมไทลื้อ ไทขึน ไทใหญ่ มอญ ม่าน
อานิสงส์ของการถวายพัดใบตาล
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ปิลินทวัจฉเถราปทาน ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการถวายพัดใบตาล ดังนี้
“ข้าพเจ้าได้ถวายพัดใบตาลสวยงามในพระสุคตแล้ว ได้รับอานิสงส์ ๘ ประการ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า
คือข้าพเจ้าไม่รู้สึกหนาวร้อน ๑ ไม่มีความเร่าร้อน ๑ ไม่รู้สึกกระวนกระวาย ที่ทำจิตของข้าพเจ้าให้เร่าร้อน ๑ ไฟทั้งหมด คือ ไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑ ไฟคือโมหะ ๑ ไฟคือมานะ ๑ ไฟคือทิฏฐิ ๑ ข้าพเจ้าดับได้แล้วเพราะผลกรรมของข้าพเจ้านั้น”
ที่มา หนังสือ สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักคำสอนและมงคลบารมี ครูบาเจ้าศรีวิชัย
https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2217242855078580&id=100003786615226