เกจิอาจารย์ แปลว่า อาจารย์บางพวก
หลังจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระภิกษุทั้งหลายได้รวบรวมคำสอนของพระองค์ไว้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่าพระไตรปิฎก ต่อมามีพระภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ได้แต่งอรรถกถาและฎีกาเพื่ออธิบายข้อความในพระไตรปิฎกให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เรียกพระภิกษุผู้แต่งหนังสือนั้นว่า พระอรรถกถาจารย์ และ พระฎีกาจารย์ และในหนังสือที่แต่งนั้นเมื่อจะมีอ้างถึงความคิดเห็นของพระภิกษุพวกอื่น ๆ ที่มีความเห็นตรงกันหรือเห็นแย้งกับผู้แต่ง ก็จะเรียกพระภิกษุหรือพระอาจารย์ที่ถูกอ้างถึงนั้นว่า พระเกจิอาจารย์
พระเกจิอาจารย์ ในยุคปัจจุบันถูกนำมาใช้ในความหมายที่ผิดไปจากเดิม คือนำมาใช้เรียกพระภิกษุที่เชื่อกันว่ามีความรู้ความสามารถด้านคาถาอาคมและการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระเกจิ
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/เกจิอาจารย์
แยกศัพท์เป็น เกจิ + อาจารย์
(๑) “เกจิ” (เก-จิ)
ศัพท์เดิมเป็น “กึ” (กิง) ( = ใคร, อะไร) + “จิ” (ศัพท์นิบาต)
กึ + จิ ความหมายเปลี่ยนไปเป็น “ใครก็ตาม, บางคน” (whoever, some)
กฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์คือ แปลง กึ เป็น ก (กะ) แล้วแจกด้วยปฐมาวิภัตติ (วิภัตตินามที่หนึ่ง) พหูพจน์ เป็น “เก”
: กึ > ก > เก + จิ = เกจิ แปลว่า “บางพวก”
(๒) “อาจารย์”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์”
(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น”
(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่”
(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง”
(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)
(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต”
“อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า “อาจารย์” (a teacher)
ที่มา : http://dhamma.serichon.us/2017/06/11/เกจิอาจารย์-บางทีก็มีอา