
ประเพณีที่จัดขึ้นสำหรับผู้ล่วงลับ ถือเป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยจัดเป็นหนึ่งในการแสดงถึงความเคารพรักต่อญาติผู้มีพระคุณทั้งหลาย ซึ่งเมื่อบุคคลที่เรารักได้ล่วงลับไปแล้ว และผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ยังคงรักและเคารพต่อบุคคลที่จากไป โดยการปฏิบัติที่ดีที่สุดก็คือ การทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมากระทั่งเป็นประเพณีถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับการทำบุญข้าวประดับดิน โดยวันนี้เรามีเรื่องราวของการทำบุญข้าวประดับดินมาฝาก ประเพณีคืออะไร และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไปติดตามกันได้เลยดังต่อไปนี้
บุญข้าวประดับดิน คืออะไร
บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำของเดือน 9 หรือประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยมีการนำข้าวปลา อาหาร ทั้งของคาวและของหวาน ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ ใส่กระทงใบตองห่ออย่างละเล็กอย่างละน้อย จากนั้นนำไปทำบุญที่วัด โดยนำไปวางไว้ตามโคนต้นไม้หรือตามกิ่งไม้ หรือบริเวณรอบๆ เจดีย์หรือพระอุโบสถ เพราะเชื่อว่าเป็นการทำบุญให้กับผู้ล่วงลับไป เพื่อจะได้มารับเอาส่วนบุญและนำอาหารกลับไปกินยังโลกวิญญาณ
ความเกี่ยวเนื่องเมื่อครั้งพุทธกาล
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องบุญข้าวประดับดินในพระธรรมบทว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อญาติพี่น้องของพระเจ้าพิมพิสารได้กินอาหารที่ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับถวายพระสงฆ์ เมื่อตายแล้ว ด้วยวิบากกรรมดังกล่าวจึงทำให้ไปเกิดเป็นเปรต และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานต่อพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้อุทิศบุญและสิ่งของนั้นต่อญาติเหล่านั้น เมื่อตกกลางคืนญาติทั้งหลายเหล่านั้นก็ได้มาแสดงตัวให้เห็น และเปล่งเสียงหวีดแหลมน่ากลัวใกล้ๆ กับพระราชวัง รุ่งเช้าพระองค์จึงเสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า ว่าสิ่งที่ได้ยินและเห็นนั้นคืออะไร
พระพุทธเจ้าจึงทูลให้ทราบว่า สิ่งที่เห็นคือ วิญญาณของบรรดาญาติทั้งหลายของพระองค์ ที่มาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากท่าน เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบตามนั้น จึงมีการถวายทานและอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติทั้งหลายที่ตายไปแล้วนั้น ทำให้ญาติได้รับส่วนกุศล จึงเป็นคติความเชื่อว่า การทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ที่ตายไปแล้วทั้งหลายนั่นเอง

ประเพณีการทำบุญข้าวประดับดิน
การทำบุญข้าวประดับดิน ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวลาวและอีสาน โดยต้องทำทุกปีจะละเลยไม่ได้ ซึ่งจะปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานตั้งแต่โบราณ ด้วยความเชื่อว่า ในคืนเดือน 9 ซึ่งเป็นคืนเดือนดับ หรือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 จะเป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกทั้งหลายออกมาเยี่ยมญาติยังโลกมนุษย์ เพียงคืนนี้คืนเดียวเท่านั้น ดังนั้น ญาติที่อยู่บนโลกมนุษย์จะต้องมีการห่อข้าว และของกินต่างๆ จัดเตรียมไว้ให้กับญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว เพื่อจะได้มารับเอาไปกินในวันนั้น และยังเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย
พิธีกรรมในการทำบุญข้าวประดับดิน
เมื่อถึงตอนเย็นของวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ญาติโยมจะมีการเตรียมหาอาหารคาวหวาน และหมากพลู บุหรี่มาไว้ให้ได้ทั้งหมดสี่ส่วน ส่วนหนึ่งใช้กินในครอบครัว ส่วนที่สองแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง ส่วนที่สามอุทิศให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว และอีกส่วนหนึ่งนำไปถวายพระสงฆ์ โดยในส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนที่จะอุทิศให้ผู้ที่ตายไปแล้ว ญาติโยมจะมีการทำเป็นห่อข้าวน้อย โดยห่อด้วยใบตองประมาณเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวของห่อให้ยาวตามซีกของใบตองนั้นๆ แล้วนำอาหารคาวหวาน หรือของกินต่างๆ ตลอดจนหมากพลูบุหรี่ และสิ่งของใส่เข้าไปในห่อใบตองนั้นด้วย ซึ่งสิ่งที่ต้องใส่เข้าไปในห่อ มีรายละเอียดดังนี้
1.ข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วปั้นเป็นคำๆ เล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ 1 ก้อน
2.เนื้อปลา เนื้อหมู ไก่ และใส่ลงไปห่อละนิดหน่อย เพื่อถือว่าเป็นอาหารคาว
3.ใส่ผลไม้ เช่น กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่น ๆ ลงไป ซึ่งถือว่าเป็นอาหารหวาน
4.หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ
มัดห่อข้าวน้อยก่อนนำไปทำบุญที่วัด
หลังจากที่ใส่ของเข้าไปในห่อเหมือนกันครบทุกห่อแล้ว ให้ใช้ไม้กลัดหัวท้ายของห่อ และตรงกลางห่อข้าวน้อยด้วย จากนั้นนำแต่ละห่อมากลัดหรือใช้เชือกร้อยหลายๆ ห่อเข้าไว้ด้วยกัน หรือบางทีจะทำเป็นคู่ๆ หรือบางแห่งจะมัดเป็นพวงใหญ่ๆ รวมกัน ซึ่งจะต้องมีห่อหมากและห่อพลูจำนวน 9 ห่อ ต่อ 1 พวง
การวางห่อข้าวน้อยหรือข้าวประดับดิน
การวางห่อข้าวน้อย จะเป็นการนำห่อข้าวน้อยไปวางอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ตายไปแล้วตามเจดีย์ อุโบสถ หรือตามต้นไม้กิ่งไม้ต่างๆ โดยต้องไปวางในช่วงเวลาประมาณ 03.00 – 04.00 น. ของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งแต่ละครัวเรือน จะนำของตัวเองไปวางตามที่เลือกและต้องการวาง ซึ่งอาจจะวางเป็นระยะกัน หรือที่อีสานเรียกว่า การยาย หรือการวางเป็นระยะๆ ไว้ที่ตามทางเดินกำแพงวัด ริมเจดีย์ในวัด หรือกิ่งไม้ที่เห็นได้ชัดเจน เพราะหลังจากที่ทำพิธีเสร็จแล้วในตอนเช้า ชาวบ้านจะต้องวิ่งไปแย่งข้าวประดับดินนั้น เพื่อนำไปวางที่นาของตัวเองต่ออีก รวมทั้งการวางห่อข้าวน้อยนี้จะไปแบบเงียบๆ โดยไม่มีการตีฆ้องร้องป่าวใดๆ

ทำบุญอุทิศแด่ญาติผู้ล่วงลับ
หลังจากที่วางห่อข้าวน้อยเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับเข้าไปยังบ้านของตนเอง เพื่อเตรียมอาหารใส่บาตรในตอนเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 พอถึงตอนเช้าญาติโยมก็กลับมาทำบุญใส่บาตร และฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ เกี่ยวกับเรื่องอานิสงฆ์ของการทำบุญข้าวประดับดิน เมื่อฟังธรรมเสร็จแล้วชาวบ้าน จะนำปัจจัยและสิ่งของทั้งหลายไปถวายแด่พระสงฆ์
หลังจากนั้นพระสงฆ์จะสวดบทกรวดน้ำ ญาติโยมทั้งหลายก็กรวดน้ำ เพื่ออุทิศกุศลให้กับญาติทั้งหลาย สุดท้ายจึงรับพรจากพระสงฆ์ ก่อนนำน้ำที่กรวดนั้นไปเทที่โคนต้นไม้ และบอกกล่าวให้ญาติมารับเอาส่วนบุญ รวมถึงของกินที่เตรียมมาไว้ให้นั้นแล้ว และสุดท้ายของการทำบุญข้าวประดับดิน คือการแย่งห่อข้าวน้อยกัน เพื่อนำไปทิ้งในที่นาของตัวเอง ซึ่งตามความเชื่อหากนำไปทิ้งในที่นาจะช่วยให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ที่นาของตนเอง ซึ่งเป็นความเชื่อแต่ละท้องที่ที่อาจจะไม่เหมือนกัน เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทำบุญข้าวประดับดินของปีนั้นๆ แล้ว การทำบุญข้าวประดับดิน ถือว่าเป็นอีกประเพณี และความเชื่อที่ควรอนุรักษ์ และรักษาให้อยู่คู่กับสังคมไทย ซึ่งนับวันจะมีน้อยลงไปแล้ว เพราะถึงแม้จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น ญาติผู้ล่วงลับได้มารับของไปจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มีกุศโลบาย ในเรื่องความกตัญญูกตเวทีแฝงอยู่ ดังนั้นเราพี่น้องไทยควรช่วยกันรักษา ให้คงอยู่สืบไปถึงลูกถึงหลานต่อไป