
หลวงพ่อเงิน รุ่นช้างคู่ วัดท้ายน้ำ ปี 2526 เป็นรูปหล่อหลวงพ่อเงินอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อันเนื่องจากความสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะถอดแบบออกมาจากหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยมองค์จริงได้อย่างลงตัวสวยงาม
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงพ่อเงิน รุ่นช้างคู่ วัดท้าย ที่สร้างในปี 2526 นี้ มีทั้งที่หล่อในพิธีและหล่อในโรงงาน ซึ่งหล่อในพิธีจะเป็นที่ต้องการมากกว่าพระหล่อในโรงงาน ที่นี้มีคำถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าองค์หล่อในพิธี องค์ไหนหล่อในโรงงาน สำหรับเรื่องนี้ผมได้สอบถามท่านมาซึ่งท่านก็ได้ให้วิธีดูอย่างคร่าว ๆ ดังนี้
- ให้ดูที่ฐานพระ หลวงพ่อเงินองค์ที่หล่อในพิธีที่ฐานจะมีรอยเดือยช่อพระอยู่ ส่วนองค์ที่หล่อในโรงงานจะไม่มี
- ดูเนื้อพระ เป็นที่ทราบกันมาว่าองค์ที่หล่อในพิธีนั้น มีส่วนผสมของโลหะระฆังเก่าโบราณ ขันทองเหลืองเก่า เข็มขัด เครื่องทองเหลืองโบราณ นอกจากนั้นยังมีสร้อยคอทองคำซึ่งได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธานำมาหล่อหลอมในครั้งนี้ด้วย จึงทำให้เนื้อพระหลวงพ่อเงินรุ่นนี้มีความเก่าคร่ำ มีกระแสเนื้อเข้ม ผิวองค์พระออกเป็นสีทอง แต่บางองค์ก็ออกสีเขียวเหมือนพระเก่าก็มี ฉะนั้น ถ้าองค์ไหนมีผิวกระแสหยาบ ๆ หน่อย มีกระแสโลหะ หรือเห็นเม็ดโลหะ กระแสโลหะไม่ค่อยกลมกลืนกันเท่าไหร่ มีครอบเบ้าอยู่ น่าจะเป็นพระที่หล่อในพิธี แต่ข้อที่ 2 นี้ไม่ใช้เป็นกฎตายตัวนะครับ และนี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวผมนะครับ
หลวงพ่อเงิน ช้างคู่ หล่อในพิธี ดีอย่างไร
- ได้ฤกษ์ในพิธี หรือได้หล่อพระตามฤกษ์ดีที่ได้กำหนดไว้หรือเลือกไว้อย่างถูกต้อง
- ได้พิธีอย่างครบถ้วน ทั้งก่อนทำพิธีหล่อ มีการบวงสรวงอย่างถูกต้อง ขณะหล่อพระมีพระเถราจารย์เจริญชัยมงคลคาถาและนั่งอธิษฐานจิต มีพระเถระผู้ใหญ่หรือบุคคลสำคัญมาเททองหล่อพระ
- ได้มวลสารครบถ้วน ทั้งแผ่นจารอักขระยันต์จากพระเถระ สร้อยคอทองคำที่มีผู้บริจาคในพิธี ชนวนมวลสารต่าง ๆ ที่ทางวัดและผู้มีจิตศรัทธาได้เตรียมมาในวันนั้น
- วันนั้นเป็นวันที่ผู้เทพเทวดา ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายได้มาร่วมบุญอนุโมทนาด้วย จึงเชื่อว่าเป็นวันแห่งความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดขึ้นจากความศรัทธาของมหาชน
- โดยส่วนตัวผมแล้ว หลวงพ่อเงินหล่อในพิธีดีกว่าน่าสะสมหามาบูชามากกว่าหลวงพ่อเงิน บล็อกหน้าแตกครับ
บทความนี้ผมเรียบเรียงจากการสอบถามท่านผู้รู้มา แล้วนำมาเรียบเรียงเสริมแต่งตามความคิดเห็นของผมเอง โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปใช้หรือเผยแพร่ต่อ สุดท้ายนี้ ผมขออนุญาตนำภาพที่คุณเจตน์ ท้ายน้ำ ได้ทำไว้ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นฐานของหลวงพ่อเงิน ช้างคู่ วัดท้ายน้ำ ปี 26 ว่าองค์หล่อในพิธีมีเดือยช่ออย่างไร องค์หล่อในโรงงานเป็นอย่างไร

ภาพข้างบนนี้ เป็นภาพฐานหลวงพ่อเงิน รุ่นช้างคู่ วัดท้ายน้ำ ปี 26 ที่หล่อในโรงงานหรือหล่อจากโรงงาน

ส่วนภาพข้างบนนี้ เป็นภาพฐานหลวงพ่อเงิน รุ่นช้างคู่ วัดท้ายน้ำ ปี 26 ที่หล่อในพิธี จะสังเกตเห็นรอยของเดือยช่อเป็นวงอยู่