เมื่อก่อนผมได้ยินคนอื่นพูดว่า ถ้าทำบุญหวังบุญ หรีออธิษฐานบุญ จะไม่ได้บุญ ผมเองก็เคลิ้มเชื่อไประยะหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ผมไม่เชื่อครับ ทำบุญก็ต้องหวังบุญสิครับ หรือคุณหวังบาป การอธิษฐานบุญเหมือนเป็นการกำหนดทิศทางหรือเป้าหมายของเราตั้งแต่วันนี้ไป จนถึงชาติหน้าภพหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนเรื่องนิพพานนั้นไม่ต้องกังวลหรอกครับ ตอนนี้เราพูดเรื่องบุญก่อน
พระเวสสันดร ให้ทานลูกเมีย ทุกอย่างก็หวังบุญ
การที่พระเวสสันดรให้ทานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเงินทอง แม้แต่ตัวเองก็ต้องระเหเร่ร่อนไปอยู่เขาวงกต ในที่สุดยังต้องให้ทานลูกและเมียสุดที่รักเพราะอะไรล่ะ เพราะหวังสร้างทานบารมีให้เต็มเปี่ยม หวังบุญหนุนโพธิญาณในอนาคตกาล เมื่อบุญเต็มแล้ว บารมีเต็มแล้วจึงจนในที่สุดได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้น การให้ทานของพระองค์นั้น ไม่ใช่ให้ลอย ๆ หรือให้เล่น ๆ ไม่ใช่คิดอยากให้ก็ให้ แต่พระองค์หวังบุญ หรือในบาลีท่านเรียกว่าทานบารมี (ทานก็เป็นวิธีหนึ่งของการทำบุญเพื่อให้เกิดบุญครับ)
ผมเคยออกข้อสอบให้เด็กนักเรียนทำประมาณว่า “การที่พระเวสสันดรบริจาคทานทุกอย่าง โดยที่สุดบุตรภรรยา นักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะเหตุใด ? มีเด็กคนหนึ่งตอบได้น่าประทับใจมาก ประมาณว่า “ความนึกคิดของบุคคลผู้หวังผลอันยิ่งใหญ่ในภายภาคที่ปัญญาของเราเข้าไม่ถึงนั้น ย่อมมีความแตกต่างจากความนึกคิดของคนทั่วไป เราไม่สามารถเอาความรู้สึกนึกคิดสั้น แคบ ตื้น ของเราไปวัดตัดสินผิดถูกความนึกคิดของบุคคลนั้นได้ หมายความว่าความนึกคิดของผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าและต้องได้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติถัดไปนั้น มันแตกต่างจากเรา เราอย่าเอากิเลสของเราไปติดสินเลยว่าผิดถูก ในเมื่อคุณยังไม่ได้เข้าไปจุดนั้น อีกอย่างการที่พระเวสสันดรให้ทานภรรยาบุตรสุดที่รักไปแล้ว ก็ไม่ได้ถึงขั้นทำให้บุตรและภรรยาลำบากมากมายอะไร พระองค์คงเล็งเห็นว่า ยังไงลูกของพระองค์เป็นลูกกษัตริย์ย่อมมีคนรู้จักพบเห็นและก็ต้องมีคนแจ้งข่าวไปที่เมืองของพระราชบิดา (ปู่-ย่าของลูก) และลูก ๆ จะต้องถูกไถ่ถอนไปแน่นอน
ทำบุญแล้วอธิษฐาน คือการกำหนดเป้าหมาย
ทำบุญแล้วอธิษฐานผลบุญนั้น เป็นการกำหนดเป้าหมายของเรา ตราบใดที่เรายังวนเวียนตายเกิดอยู่ บุญย่อมมีความจำเป็น เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกตราบนั้น ฉะนั้นอธิษฐานบุญไปเถอะครับ ตามแต่คุณจะปรารถนา
ผมเคยอ่านคร่าว ๆ มา แต่ท่านผู้อ่านจะไปหาอ่านเพิ่มเติมก็ดีครับ ในหนังสือมิลินทปัญหา ได้กล่าวถึงบุพพเหตุของพระมิลินท์และพระนาคเสนประมาณว่า ท่านทั้งสองได้เกิดเป็นศิษย์อาจารย์กันในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนพระนามว่ากัสสปพุทธเจ้า (ผมอาจจะจำชื่อผิด) ครั้งนั้นพระอาจารย์และสามเณรช่วยกันปัดกวาดใบไม้รอบพระเจดีย์ อาจารย์ใช้ให้สามเณรหอบใบไม้ใส่ตะกร้าไปทิ้ง สามเณรก็งอแงจนอาจารย์ต้องพูดถึงสามครั้งสามเณรจึงได้ไป เมืขณะที่สามเณรนำใบไม้ไปทิ้ง ได้เห็นคลื่นทะเลซัดมาไม่ขาดสาย จึงได้อธิษฐานว่า ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำการหอบใบไม้มาทิ้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาแก่กล้า ฉลาดกว่าคนทั้งปวง ใคร ๆ มีปัญญาแผ่ไปทั่วไม่สิ้นสุดเหมือนดังคลื่นทะเลนี้ อาจารย์ได้ยินเช่นนั้น ก็พิจารณาดูว่าความปรารถนาของสามเณรนี้จักสไเร็จแน่ จึงอธิษฐานทับเลย ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ข้าพเจ้าปัดกวาดพระเจดีย์นี้ ขอให้มีปัญญามั่นคง ตอบปัญหาของสามเณรนี้ได้ทุกข้อ เหมือนดังฝั่งที่หยุดคลื่นได้ (เกี่ยวกับข้อความอธิษฐานของท่านทั้งสอง ผมอาจจะไม่ตรงเป๊ะ แต่ให้รู้ว่าท่านทั้งสองได้ทำการอธิษฐานบุญจริง) จากนั้นทั้งสองศิษย์อาจารย์ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่หลายภพชาติจนสามเณรนั้นได้มาเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์ ส่วนอาจารย์ได้เกิดมาเป็นพระนาคเสนเถระ ซึ่งพระเจ้ามิลินท์ก็มีปัญญาถามไถ่ในปัญหาต่าง ๆ จนไม่มีใครสามารถตอบได้ จนในที่สุดพระนาคเสนได้มาวิสัชชนาได้ทุกข้อ แจ่มแจ้งหายสงสัยแก่พระเจ้ามิลินท์
ควรอธิษฐานบุญอย่างไร
อธิฐานบุญตามสิ่งที่คุณต้องการหรือปรารถนาอะไร แต่ถ้าไม่ได้ปรารถนาอะไร ก็ทำใจให้เบิกบานในบุญนั้นให้มาก ทำจิตยินดีในบุญนั้นให้มาก นึกขึ้นทีไรก็ชื่นใจปลื้มใจ นึกได้ง่าย ได้เร็ว ไม่ใช่นึกไม่ออกเลยว่าตนเองได้ทำบุญที่ไหน เมื่อไหร่ ยังไง เมื่อทำจิตให้ยินดีในบุญที่ทำแล้ว ก็กล่าวหรืออธิษฐานในใจว่า นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ