- เป็นเหรียญปั๊มตัดชิด หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
- ด้านหลังมีรอยลบอะไรสักอย่างจากบล็อกเก่า น่าจะสร้างย้อนยุคโดยพระลูกศิษย์ โดยใช้บล็อกเดิม
- เหรียญปั๊มตัดชิด หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เหรียญนี้ผมยังไม่ทราบรุ่นไหน สร้างที่ไหน ปีไหน โดยใคร
- ใครทราบขอข้อมูลหน่อยครับ
เหรียญแผ่นปั๊มรูปเหมือนพระญาณวิศิษฎ์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)
เหรียญแผ่นปั๊มรูปเหมือนพระญาณวิศิษฎ์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) แห่งวัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ลักษณะเป็นแผ่นปั้มนั่งขัดสมาธิ เต็มองค์ รุ่นแรกนั้นปั้มด้วยเนื้อทองแดงสร้างในช่วงที่ท่านจำพรรษาที่วัดป่าทรงคุณ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2501
ด้านหน้าแผ่นปั้มหลวงปู่สิงห์ เป็นรูปเหมือนท่านพระญาณวิศิษฎ์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) นั่งสมาธิเต็มองค์ เหนือฐานอาสนะ ที่ฐานด้านหน้ามีอักษรว่า พระญาณวิศิษฎ์
ด้านหลังแผ่นปั้มหลวงปู่สิงห์ พื้นเรียบ มียันต์อยู่ตรงกาง
ประวัติแผ่นปั้มหลวงปู่สิงห์
ว่ากันว่าเหรียญแผ่นปั้มนี้ เดิมทีนั้นพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม หรือหลวงปู่สิงห์ ได้ให้นายสมศักดิ์ แสงจันทร์ ไปทำเป็นเหรียญรูปไข่ แต่อย่างไรไม่ทราบสาเหตุนายสมศักดิ์กลับไปสั่งให้ทางร้านทำเป็นเหรียญปั๊มตัดรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์มา เมื่อนำมาให้หลวงปู่ท่านดู ท่านได้พูดว่าไม่ได้สั่งให้ทำอย่างนี้ และให้นำไปฝังดินเสีย แต่ท่านก็ให้เก็บไว้ที่กุฏิท่านก่อน (ท่านคงจะได้เมตตาอธิษฐานจิตให้ ตามปกติวิสัยของพระอริยเจ้า) มีเรื่องเล่าว่ามีนายทหารท่านหนึ่งจากค่ายจักรพงษ์ได้ขอไป แล้วจึงนำไปทดลองยิงดู ปรากฏว่ายิงไม่ออกถึง 2 ครั้ง พอยิงครั้งที่ 3 ปืนแตกไหม้คนที่ทำการทดลองยิง ทำให้ผู้ที่ทราบเรื่องไปขอเหรียญจากหลวงปู่สิงห์ และอ้อนวอนขอให้ท่านแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ของท่านในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2501
แผ่นปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์มี 2 บล็อก
แผ่นปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์ มี ๒ บล็อก ได้แก่
- แผ่นปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์ บล็อกปราจีนบุรี คือ บล็อกที่สร้างขึ้นที่วัดป่าทรงคุณ ซึ่งในปี พ.ศ. 2501 นั้น หลวงปู่สิงห์ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าทรงคุณ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
- แผ่นปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์ บล็อกโคราช เป็นบล็อกสร้างขึ้นที่วัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีจุดให้สังเกตอยู่ว่าบล็อกโคราชนั้นที่สันจมูกรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์จะมีรอยแตกเป็นเม็ด คล้ายไฝที่สันจมูก จึงเข้าใจว่าบล็อกนี้น่าจะสร้างครั้งหลัง เพราะเกิดจากรอยแตกของบล็อกพิมพ์นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการนำบล็อกเดิมนั้นคือที่มีรอยแตกเป็นรูปไฝที่สันจมูกแล้วนั้นมาปั๊มใหม่ แต่อาจจะเนื่องด้วยเป็นบล็อกเก่าเก็บจึงทำให้เกิดสนิมขึ้นมา จึงทำให้บล็อกด้านหลังที่เป็นรูปยันต์ติดไม่คมชัด จึงเรียกกันว่า บล็อกยันต์นาไม่เต็ม
ข้อมูลข้างบนนี้ ผมสรุปมาจาก เพจ มุมพระเครื่อง facebook.com/nanbangdon จากที่อ่านดูแล้ว แผ่นปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่สิงห์ มีบล็อกเดียวนั่นแหล่ะ แต่ทำการปั้ม 3 ครั้ง หรือ 3 วาระ
วาระที่ 1 ทำในสมัยที่ท่านจำพรรษาที่ วัดป่าทรงคุณ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
วาระที่ 2 ทำในสมัยที่ท่านจำพรรษาที่ วัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา (ไม่ทราบปี)
วาระที่ 3 ทำเมื่อปี 2504 ที่ วัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
แต่ในการปั้มทั้ง 3 วาระนั้น มีจุดสังเกตหรือตำหนิที่แตกต่างกันนั่นเอง ผมอาจจะเข้าใจผิดก็ได้นะครับ ใครทราบข้อเท็จช่วยชี้แนะ
สำหรับแผ่นปั้ม รูปเหมือนท่านพระญาณวิศิษฎ์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) ที่ผมนำมาประกอบบทความนี้ เป็นพระของเพื่อนที่ผมขอถ่ายรูปไว้ ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่าสร้างในปีไหน ที่ไหน