พระลีลาเมืองสรรค์ หรือพระสรรค์ยืน กรุท้ายย่าน ชัยนาท
หนึ่งในพระเครื่องสายเหนียวในดวงใจของผม นั่นคือพระกรุเมืองสรรค์ จังหวัดชัยนาท เล่ากันมานานเจ็ดย่านน้ำ เจ็ดหัวเมือง ลือเรื่องขลังด้านเหนียว คงกระพันชาตรี
พระเครื่องเมืองในชัยนาท มีมากมายหลายกรุ แต่กรุที่ผมจะนำมากล่าวนี้ถือว่าเป็นกรุยอดนิยมมาแต้โบราณ เป็นพระที่ได้รับความนิยมมากกว่ากรุอื่น ๆ ในบรรดาพระสรรค์กรุอื่น ๆ ด้วยว่าพระสรรค์กรุนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะคือเป็นพระเนื้อดินที่ละเอียดและหนึกนุ่ม ดูคล้ายกับพระเนื้อดินเมืองกำแพงเพชร ปรากฏราดำขึ้นประปราย มีเม็ดแร่สีแดงที่เรียกกันว่านดอกมะขาม จะปรากฎให้เห็นเด่นชัดในองค์ที่ติดหน้าตาชัดเนื้อหนึกนุ่ม
เมืองสำคัญที่เป็นระดับตำนานแห่งหนึ่งของชัยนาทก็คือ เมืองสรรค์ หรือทุกวันนี้ก็คืออำเภอสรรคบุรีนั่นเองในอดีตเมืองแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจแห่งศรัทธากำเนิดวัดเก่าแก่มากหมายหลายร้อยวัด หลายวัดเสื่อมสภาพทรุดโทรมกลายเป็นวัดร้างหรือแต่ร่องรอยความรุ่งเรืองที่ทิ้งไว้ผ่านอิฐปูนในรูปแบบเจดีย์ แต่บางวัดก็จงคงเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่จนถึงทุกวันนี้
ในบรรดาวัดที่มีความสำคัญและเคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตของเมืองสรรค์ ต่างก็ล้วนทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ น่าศึกษาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในอดีต เป็นต้นว่า วัดบรมธาตุ วัดโคกอุดม วัดกลาง วัดจันทร์ วัดส่องคบ วัดพระนอน วัดมหาธาตุ วัดทัพยั่น (ท้ายย่าน) แน่นอนว่าวัดดังที่กล่าวมา ล้วนเป็นสถานที่ชาวพุทธในสมัยเก่าก่อนได้สร้างและบรรจุพระพิมพ์ต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อเป็นพุทธบูชาและสืบทอดอายุพระศาสนาไว้ พระพิมพ์ต่าง ๆ ที่ค้นพบ แสดงพุทธศิลป์แบบประทับนั่งและประทับยืนในหลากหลายแม่พิมพ์ ไม่น้อยกว่า 60-70 พิมพ์ นักนิยมสะสมพระกรุเรียกพระที่พบนี้ว่า “พระกรุเมืองสรรค์”
พระเครื่องเหล่านี้ถูกสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยเจ้ายี่พระยาเมื่อคราวครองเมืองสรรค์ (เมืองแพรกศรีราชา) โดยครั้งนั้นได้อัญเชิญฤาษีและนักบวชทำพิธีบวงสรวงและกดพิมพ์พระ ด้วยดินมงคลเป็นหลัก ผสมเกสรว่านศักดิ์สิทธิ์ แร่ธาตุต่าง ๆ แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์
พระสรรค์เป็นพระพิมพ์ศิลปะสกุลช่างอู่ทอง เนื้อหามีทั้งเนื้อดินละเอียด-หยาบ (กรุวัดกรุท้ายย่านจะมีเนื้อละเอียดกว่ากรุอื่น ๆ) มีทั้งเนื้อดิน เนื้อดินผสมว่าน เนื้อชินตะกั่ว ชินเงิน ชินสนิมแดง (ตะกั่วสนิมแดง) และเนื้อสำริด
วัดทัพยั่น หรือที่เรียกกันว่าวัดท้ายย่าน เป็นวัดที่มีความเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันกลายเป็นวัดร้าง มีการค้นพบพระกรุนี้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถานที่แห่งแรกที่พบพระกรุเมืองสรรค์ ด้วยเหตุนั้นจึงถือว่าเป็น “พระกรุเก่า” แห่งเมืองสรรค์ พระกรุวัดท้ายย่านได้รับความนิยมมากกว่าพระกรุอื่น ๆ ในบรรดาพระเมืองสรรค์ด้วยกัน ด้วยเหตุว่าพระสรรค์กรุท้ายย่านเป็นพระเนื้อดินผสมว่าน มีเนื้อละเอียดหนึกนุ่มคล้ายพระสกุลกำแพงเพชร พระสรรค์กรุท้ายย่านพิมพ์ที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมมากได้แก่
- พระปิดตา กรุวัดท้ายย่าน เนื้อแร่พลวง
- พระหูยาน กรุวัดท้ายย่าน เนื้อชินเงิน
- พระลีลาสรรค์ กรุวัดท้ายย่าน เนื้อดินและเนื้อชินเงิน
- พระลีลาสรรค์หย่อง กรุวัดท้ายย่าน เนื้อดินและเนื้อชินเงิน
- พระสรรค์นั่งไหล่ยก กรุวัดท้ายย่าน เนื้อดินและเนื้อชินเงิน
- พระสรรค์นั่งไหล่ตรง กรุวัดท้ายย่าน เนื้อดินและเนื้อชินเงิน
เอกลักษณ์พระกรุเมืองสรรค์
ที่เรียกว่าพระสรรค์ เหตุว่าพบที่เมืองสรรค์ หรืออำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท พบหลายกรุ มีทั้งพระยืนและพระนั่ง มีทั้งเนื้อดิน เนื้อดินผสมว่าน เนื้อชินตะกั่ว ชินเงิน ชินสนิมแดง (ตะกั่วสนิมแดง) และเนื้อสำริด เรียกรวม ๆ ว่าพระสรรค์ทั้งหมด
พระสรรค์ยืน
พระลีลาเมืองสรรค์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่าพระสรรค์ยืน เป็นพระพุทธยืนปางลีลา ครองจีวรแนบชิดพระวรกาย ประทับบนฐานบัวสองชั้น หันพระพักตร์เยื้องไปทางขวา พระหัตถ์ขวายกขึ้นประทับพระอุระ (อก) มีทั้งพิมพ์ลีลาธรรมดา พิมพ์ลีลาข้างเม็ด และพิมพ์ลีลาซุ้มเถาวัลย์เลื้อย พบหลายกรุ แต่ที่นิยมสุดคือ กรุวัดทัพยั่น (กรุท้ายย่าน) เพราะว่าเป็นพระที่มีเนื้อหาละเอียดหนึกนุ่มเนียนตา กว่ากรุอื่น ๆ เมื่อโดนเหงื่อไคลผิวจะมันแกร่งเก่าและมักมีคราบรารักสีดำปกคลุมผิวอยู่ประปราย
พระสรรค์นั่ง
พระสรรค์นั่ง เป็นแบบพุทธศิลป์สกุลช่างอู่ทอง แสดงองค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยเหนือฐานบัวหรือฐานเขียง มีทั้งพระสรรค์นั่งพิมพ์ใหญ่ไหล่ยก พระสรรค์นั่งพิมพ์กลางไหล่ยก พระสรรค์นั่งพิมพ์เล็กไหล่ยก พระสรรค์นั่งพิมพ์ไหล่ตรงธรรมดา พระสรรค์นั่งพิมพ์ไหล่ตรงข้างเม็ด พระสรรค์นั่งพิมพ์แขน พระสรรค์นั่งพิมพ์อ่อนซุ้มไข่ปลา พระสรรค์นั่งพิมพ์ซุ้มใบตำแย ฯลฯ ที่วงการพระเครื่องนิยมสุดคือ พระสรรค์พิมพ์ไหล่ยกกรุวัดทัพยั่น (ท้ายย่าน) (แต่สำหรับผมพระสรรค์พิมพ์ไหล่ตรงสวยมากกว่า) เพราะว่าเป็นพระสรรค์ที่มีเนื้อหาละเอียดหนึกนุ่มกว่าพระสรรค์กรุอื่น ๆ พระสรรค์กรุนี้มักมีคราบรารักปกคลุม มีเอกลักษณ์สำคัญคือ มีขีดปักทะลุพระเกศคล้ายปิ่นปักผมทุกองค์
พุทธคุณพระสรรค์
พระกรุเมืองสรรค์ทั้งสองพิมพ์ คือพระสรรค์ยืน และพระสรรค์นั่ง ล้วนเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมสูงมาแต่อดีต ติดทำเนียบพระคู่ใจประจำกายนักรบมาแต่โบราณ พุทธคุณโดดเด่นในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี จนได้รับฉายาว่า “พระบ่ยั่น แมลงวันไม่ได้กินเลือด” หมายความว่า อยู่ยงคงกระพันชาตรีเป็นเลิศ ศัสตราวุธใด ๆ มิอาจระคายผิวได้เลย นอกจากนั้นแล้ว พระสรรค์ยังมีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม มหาอำนาจ ผู้คนเกรงขาม โดยเฉพาะพระสรรค์ยืน ซึ่งแสดงพุทธศิลป์กำลังย่างพระบาทก้าวไปข้างหน้า จึงเชื่อว่ามีพุทธคุณโดดเด่นอีกด้านเป็นกรณีพิเศษ คือ ในด้านความเจริญก้าวหน้า ไป ณ ที่ใด อยู่ในสถานที่ใด ก็มีแต่ความเจริญก้าวหน้า มีความมั่นคงถาวร ได้รับความครอง เป็นเมตตา เป็นมหาอำนาจ มีบริวารมาก
คาถาบูชาพระสรรค์ลีลา
นะ เม ทิฏโฐ อิโต ปุพเพ นะ สุโต อุทะ กัสสะสิ
เอวัง วัคคุคโท สัตถา ตุสิตา คะณิมาคะโต
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิเม โหตุ สัพพะทา
การที่พระพุทธเจ้าทรงพระศิริโสภาคอันงามปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยเห็นเลย ไม่เคยได้ยินแม้แต่ถ้อยคำใคร ๆ บอกเล่า พระบรมศาสดามีพระสุระเสียงอันไพเราะอย่างนี้เสด็จจากดุสิตมาสู่แผ่นดิน
ขอบคุณข้อมูลจาก ThaisAmulets
บทความแนะนำ
คาถาบูชาพระพุทธรูปปางลีลา
หนุ่มลองพระกรุเมืองสรรค์ ชัยนาท สุดยอดคงกระพัน แคล้วคลาด