
คาถาพระพุทธเจ้าห้ามอาวุธ
สัตถา ธะนุง อากัฑฒิตุง ทัตวา วิสัชเชตุง นาทาสิ.
คาถาพระพุทธเจ้าห้ามอาวุธบทนี้โบราณาจารย์ท่านนำมาจากอรรถกถาธรรมบทว่าด้วยเรื่อง นายพรานกุกกุฏมิตร ความย่อ ดังนี้
วันหนึ่ง นายพรานกุกกุฏมิตรไปดักบ่วงไว้ แต่ไม่มีสัตว์มาติดบ่วงเลยแม้ตัวเดียว พบแต่รอยเท้าที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ (พระพุทธเจ้าเสด็จโปรด) ก็หงุดหงิดโมโห เข้าใจว่าพระพุทธเจ้านี่เองที่เป็นคนปล่อยสัตว์ออกจากบ่วงหมด ก็เลยโก่งธนูขึ้นเพื่อจะยิงพระพุทธเจ้า แต่ด้วยพุทธานุภาพ เขาก็ทำได้แค่ง้างธนูเท่านั้น ไม่สามารถจะยิงธนูได้เลย แม้พวกลูก ๆ ของนายพรานที่แม่ (เมียของนายพราน) ส่งมาตามหานายพราน พอมาเห็นพระพุทธเจ้าก็ง้างธนูจะยิงเหมือนกัน แต่ก็ทำได้แค่นั้น จึงเป็นอันว่าทั้งนายพรานและลูก ก็ยืนง้างธนูค้างอยู่อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าทรงทราบจิตของพวกเขาอ่อนแล้ว จึงให้ลดธนูลงได้ เมื่อทุกคนคุกเข่าถวายบังคมเพื่อให้พระองค์ยกก็นั่งฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจนบรรลุโสดาบัน
สัตถา ธะนุง อากัฑฒิตุง ทัตวา วิสัชเชตุง นาทาสิ. แปลว่า พระศาสดาให้โก่งธนูได้ (แต่) ไม่ให้ยิง (ธนู) ไปได้. ด้วยเหตุนั้นโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงใช้ข้อความนี้มาเป็นคาถาสำหรับป้องกันอาวุธต่าง ๆ เป็นคาถามหาอุด คาถาแคล้วคลาดจากอาวุธต่าง ๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในอรรถกถาธรรมบท ใช้คำว่า วิสฺสัชเชตุง (ซ้อน สฺ ) ไม่ใช่ วิสัชเชตุง แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อแปลออกมาแล้วก็ได้ความหมายเช่นเดียวกัน
สัตถา ธะนุง อากัฑฒิตุง ทัตวา วิสฺสัชเชตุง นาทาสิ. เป็นประโยคที่พระอรรถกถาจารย์พรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ประโยคคำพูดหรือคำตรัสของพระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้สวดหรือกล่าวคาถาใด ๆ ในการห้ามอาวุธ (เรื่องนี้ ถ้าตัดปาฏิหาริย์ออกนายธนูอาจจะตกตะลึงในพระบารมี (พระมหาปุริสลักษณะที่ไม่เหมือนใคร) ของพระองค์ หรือในความสงบนิ่งของพระองค์จนไม่กล้าปล่อยลูกธนู) แต่ผมเชื่อมั่นในพุทธปาฏิหาริย์แห่งพระพุทธองค์ เพราะแม้แต่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าก็ยังเคยปรากฏให้ได้ยินว่าทำได้
พระพุทธเจ้ามิได้มีพุทธประสงค์เสด็จเพื่อแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ แต่พระองค์เสด็จเพื่อแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือเพื่อแสดงธรรมโปรดนายพรานและครอบครัว
คาถาพระพุทธเจ้าห้ามอาวุธนี้ เกจิอาจารย์บางสำนักได้เพิ่มข้อความต่อท้าย เป็น สัตถา ธะนุง อากัฑฒิตุง ทัตวา วิสัชเชตุง นาทาสิ อะสิสัตตะติ ธะนูเจวะสัพเพ เต อาวุธานิจะ ภัคคะภัคคาวิจุณณานิ โสมังมาเม นะผุสสันติ. ซึ่งถือว่าได้ความหมายดี เพิ่มความหนักแหน่นแห่งบทคาถา เป็นการแสดงเจตนาของผู้ใช้คาถาเพื่ออะไร มีจุดประสงค์อย่างไร
พุทธคุณคาถาพระพุทธเจ้าห้ามอาวุธ
โบราณาจารย์ให้สวดภาวนาหรือทำเป็นตะกรุด มีอำนาจด้านป้องกันอาวุธ ปืน ธนู ยิงไม่ออก เป็นมหาจังงัง ศัตรูไม่อาจจะทำร้ายเราได้ อาวุธต่าง ๆ ไม่อาจจะทำร้ายเราได้