พระกริ่งในตำนาน พระกริ่งปรมานุชิต เจ้าคุณเจีย วัดโพธิ์ ท่าเตียน ปี 2498
หนึ่งในพระกริ่งที่เป็นตำนานแห่งพระกริ่งเมืองไทย พระกริ่งเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร พระกริ่งปรมานุชิต ท่านเจ้าคุณเจีย วัดโพธิ์ ท่าเตียน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2498 ประกอบพิธีที่ยิ่งใหญ่ 3 วัน 3 คืน โดยเริ่มในวันมหาสิทธิโชคคือวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2498 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นองค์ประธานในพิธี
วันที่ 26 กุมภาพันธุ์ 2498 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย ประกอบพิธีเททองหล่อพระกริ่ง เพื่อถวายเป็นพระเกียรติแด่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส โดยจัดพิธีขึ้นเต็มตามตำราที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์เจ้าชั้นเอกทรงสืบทอดมา โดยที่พระองค์ไม่เคยทรงนำมาสร้างพระกริ่งเลย
ตำรานี้ว่าด้วยการสร้างพระกริ่ง ของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ผู้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมัยอยุธยา ตำรานี้ได้ตกทอดมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์เจ้าชั้นเอก อดีตสมเด็จพระสังฆราชเจ้า อดีตอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ต่อมาตำรานี้ได้ตกทอดไปอยู่กับพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส จากนั้นตำรานี้ได้ถูกนำไปถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม (ประสูติ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 สิ้นพระชนม์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487) พระองค์ได้ทรงใช้ตำรานี้สร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ จนโด่งดังในวงการพระกริ่งไทย
ความพิเศษ 7 ประการ พระกริ่งปรมานุชิต
1.ชื่อดี เป็นมงคล พระกริ่งปรมานุชิต ชื่อนี้ได้มาจากพระนามของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์เจ้าชั้นเอก อดีตสมเด็จพระสังฆราชเจ้า อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
2.มวลสารดี พระกริ่งปรมานุชิตสร้างด้วยเนื้อนวโลหะ จัดสร้างตามตำราการสร้างพระกริ่งโบราณ ประกอบด้วย
– ทองคำ (ทองที่ได้จากชนวนการหล่อพระพุทธรูปในพิธีต่าง ๆ เช่น ทองชนวนพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม และท่านเจ้าคุณ พระมงคลราชมุนี (สนธิ์) ทองชนวนหล่อพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ทองชนวนหล่อพระพุทธสิหิงค์ ทองชนวนหล่อหลวงพ่อโสธร เป็นต้น
– เงิน ทองแดง ที่ได้ถวายพระเถรานุเถระผู้ทรงวิทยาคุณวิเศษ ลงพระพุทธมนต์เสกเป่า
– เจ้าน้ำเงิน
– โลหะพระชินเก่า ๆ ได้จากกรุสำคัญในพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย พิษณุโลก ฯลฯ
–ดีบุก-สังกะสี-เหล็ก-ปรอท รวมทั้งผงวิเศษต่าง ๆ อีกจำนวนมาก นอกจากนั้นยังให้โหรบรรจุดวงพระชาตาประสูติ ตรัสรู้ ดวงชาตาเหล่าพระอรหันต์ ดวงชาตากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ดวงพระชาตาพระมหากษัตริย์ไทย เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
3.ผู้สร้างดี ทรงความรู้ ท่านเจ้าคุณเจีย ท่านทรงความรู้ ทรงพระไตรปิฎก จบเปรียญ ๙ ประโยค ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระเทพวิสุทธิเมธี ศรีวิบุลคณาจารย์ ตรีปิฎกญาณวิมล โกศลธรรมธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
4.เจตนาในการสร้างดี ท่านเจ้าคุณเจียสร้างพระกริ่งปรมานุชิตเพื่อก่อตั้งนิธิปรมาบูรณะตำหนักวาสุกรี เพื่อเป็นอนุสรณ์และถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์เจ้าชั้นเอก อดีตสมเด็จพระสังฆราชเจ้า อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
5.พุทธลักษณะดี พระกริ่งปรมานุชิตเป็นพระกริ่งที่แสดงพุทธลักษณะพระพักตรแบบอินเดีย พระหัตถ์ทรงบาตรน้ำมนต์ อีกพระหัตถ์ทรงประทานพร
6.ฤกษ์ในการสร้างดี…วันมหาสิทธิโชค (ที่มาระบุว่า เริ่มประกอบพิธีเททองวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ แต่ผมดูปฏิทินย้อนหลังแล้ว ในปี 2498 ไม่มีวันไหนที่ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ที่เรียกว่าวันเสาร์ห้าตามตำรา แต่วันเสาร์ขึ้น ๕ ค่ำมี แต่ไม่ใช่เดือน ๕ อย่างที่อ้างถึง)
7.พระคณาจารย์ปลุกเสกดี พระเถระ พระคณาจารย์ ผู้ทรงคุณ ที่เข้าอธิษฐานจิต เป็นสมเด็จพระสังฆราช และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช รวม 4 พระองค์ ได้แก่
1.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง วชิรญาณวงศ์ (สุจิตฺตมหาเถร) วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ( ดำรงตำแหน่ง 1 มกราคม พ.ศ. 2488-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501)
2.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร (ดำรงตำแหน่ง 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503-17 มิถุนายน พ.ศ. 2505)
3.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโนทโย) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ดำรงตำแหน่ง 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2506-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2508)
4.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (ดำรงตำแหน่ง 22 มิถุนายน พ.ศ. 2517-27 สิงหาคม พ.ศ. 2531)
พระเถระอื่น ๆ ที่ร่วมในพิธี พระกริ่งปรมานุชิต ได้แก่
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) วัดบรมนิวาส
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
หลวงพ่อถิร วัดป่าเลย์ไลย์
หลวงพ่อฑูรย์ วัดโพธิ์นิมิตร
หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
ท่านเจ้าคุณผล วัดหนัง
หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง
หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
หลวงพ่อโศก เพชรบุรี
หลวงปู่ใหญ่ วัดสะแก
หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
หลวงปู่ธูป วัดแคนางเลิ้ง
หลวงพ่อดำ วัดตุยง
หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ฯลฯ
รวมแล้ว พิธี พระกริ่งปรมานุชิต เจ้าคุณเจีย มีพระเถระ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ พระเกจิคณาจารย์ร่วมอธิษฐานจิตในครั้งนั้น รวม 118 รูป
ข้อมูลจาก : komchadluek.net โพสต์โดย ฐกร บึงสว่าง ในหัวข้อ พระกริ่งปรมาฯเจ้าคุณเจีย วัดโพธิ์๒๔๙๘เนื้อแดงแต่งเก่า เมื่อ 04 ธ.ค. 2556 |11:00 น.
หมายเหตุ :
1. จากแหล่งที่มาระบุว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ไม่เคยทรงนำมาสร้างพระ(กริ่ง) จากตำรานี้เลย เป็นแต่ทรงเก็บรักษาไว้ แต่ก็มีบางแหล่งข้อมูลว่าพระองค์เคยสร้างพระกริ่งไว้ ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ปรากฏให้เห็น
2. จากแหล่งข้อมูลที่นำมาอ้างอิงในบทความนี้ ระบุว่า ทำพิธีใน วันมหาสิทธิโชค ผมก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า วันเช่นใดเรียกว่า วันมหาสิทธิโชค จึงขอนำข้อมูลจาก หนังสือ ปฏิทิน ๑๒๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ ถึง ๒๕๒๔ เรียบเรียงโดย อาจารย์ อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ จัดพิมพ์เมื่อ ปี 2509 โดยสำนักพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดมศึกษา (แผนกการพิมพ์) อธิบาย วันมหาสิทธิโชค ไว้ดังนี้
วันมหาสิทธิโชค ตำราที่ 1 อธิบายว่า
-วันอาทิตย์ ขึ้นหรือแรม ๑๔ ค่ำ
-วันจันทร์ ขึ้นหรือแรม ๑๒ ค่ำ
-วันอังคาร ขึ้นหรือแรม ๑๓ ค่ำ
-วันพุธ ขึ้นหรือแรม ๔ ค่ำ
-วันพฤหัสบดี ขึ้นหรือแรม ๗ ค่ำ
-วันศุกร์ ขึ้นหรือแรม ๑๐ ค่ำ
-วันเสาร์ ขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ
ท่านเรียกว่า วันมหาสิทธิโชค ให้ประกอบการพิธีมงคลทั้งปวง ดีนัก
วันมหาสิทธิโชค ตำราที่ 2 อธิบายความว่า
-วันอาทิตย์ ขึ้นหรือแรม ๑๔ ค่ำ
วันจันทร์ ขึ้นหรือแรม ๑๒ ค่ำ
วันอังคาร ขึ้นหรือแรม ๑๓ ค่ำ
วันพุธ ขึ้นหรือแรม ๔ ค่ำ
วันพฤหัสบดี ขึ้นหรือแรม ๗ ค่ำ
วันศุกร์ ขึ้นหรือแรม ๑๐ ค่ำ
วันเสาร์ ขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ
โบราณาจารย์ เรียกว่าวันมหาสิทธิโชค ควรแก่การทำการมงคลทั้งปวง
วันมหาสิทธิโชค ตำราที่ 3 อธิบายความว่า
วันศุกร์ ขึ้นหรือแรม ๑๑ ค่ำ
วันเสาร์ ขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ
วันอาทิตย์ ขึ้นหรือแรม ๑๔ ค่ำ
วันพุธ ขึ้นหรือแรม ๔ ค่ำ
วันจันทร์ ขึ้นหรือแรม ๒ ค่ำ
วันพฤหัสบดี ขึ้น หรือแรม 2 ค่ำ
วันอังคาร ขึ้นหรือแรม ๑๓ ค่ำ
โบราณาจารย์เรียกว่า วันมหาสิทธิโชค เบื่นวันที่ควรแก่การประกอบการพิธีการมงคลทั้งปวง
เมื่อพิจารณาระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2498 ก็จะได้ดังนี้
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๓ ค่ำ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ
จะเห็นได้ว่า แม้จะอ้างอิงวันมหาสิทธิโชค ทั้ง 3 ตำรา ก็ไม่มีวันไหนตรงกับวันมหาสิทธิโชค แต่อย่างไรก็ตาม ตำราวันมหาสิทธิโชคอาจจะต่างกันไป (แต่หนังสือนี้ก็รวบรวมข้อมูลโบราณ และจัดพิมพ์มานาน) เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกวันก็สามารถเป็นวันมหาสิทธิโชคได้ แล้วแต่ใครจะถือตำราเล่มไหน หรือเชื่ออย่างไร)
3.จากแหล่งข้อมูลที่นำมาอ้างอิงในการเขียนบทความนี้ บอกว่า วันที่ ๒๖ กุมภาพันธุ์ ๒๔๙๘ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ห้า ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเมีย (มหาสิทธิโชค+เสาร์ห้า) เมื่อตรวจดูจากปฏิทิน ปฏิทิน ๑๒๕ ปี วันที่ ๒๖ กุมภาพันธุ์ ๒๔๙๘ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ห้า ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ไม่เดือน ๕ ไม่ใช่วันเสาร์ห้าตามที่ตำราโดยมากกล่าวถึง แต่อย่างไรก็ตามมีความเชื่อในบางกลุ่มว่า แค่วันเสาร์ ๕ ค่ำ ก็คือวันเสาร์ห้าแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น วันเสาร์ห้าดังกล่าวมีขึ้นบ่อยครั้งมากกว่า วันเสาร์ห้า ๕ ค่ำ เดือน ๕
4. จากแหล่งที่มาระบุว่า ทำพิธี 3 วัน 3 คืน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2498 ถ้าจะนับให้ได้ 3 วัน 3 คืน แสดงว่า วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2498 เริ่มงานในเวลากลางคืน และเสร็จสิ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2498 เวลากลางวัน ถ้าเริ่มงานกลางวันในวันที่ 23 ก็กลายเป็น 4 วัน (ผมอ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจถึงพิธีการ ข้อมูลบอกว่าเริ่มพิธีวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2498 เททองวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2498 ในพิธีการไม่ได้บอกว่าวันที่ 23 -25 ทำอะไร ทำพิธีบวงสรวง เจริญพระพุทธมนต์ พุทธาภิเษก หรืออย่างไร แล้ววันที่ 26 จึงเททองหล่อพระกริ่ง แล้วจบภายในเวลากลางวันอย่างนั้นหรือ เพราะถ้าถึงกลางคืนก็กลายเป็น 4 คืน ไม่ใช่ 3 วัน 3 คืนอย่างที่กล่าวมา และหลังจากเททองแล้วแต่งพระกริ่งเสร็จแล้ว ได้ทำพิธีฉลองหรือพุทธาภิเษกหรือไม่ ความจริงควรจะนำเข้าพิธีฉลองหรือพุทธาภิเษกหลังจากเททองหล่อ และช่างแต่งพระกริ่งเสร็จแล้ว)
5.ตำราที่สร้างพระที่กล่าวว่าเป็นของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ผู้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมัยอยุธยา เข้าใจว่า น่าจะระบุเพียงเนื้อโลหะหรือฤกษ์ยามในการจัดสร้าง ไม่น่าจะระบุรายละเอียดถึงขั้นระบุว่าเป็นพระกริ่ง เพราะเท่าที่ทราบมา สมเด็จพระพันรัตน์ วัดป่าแก้ว ไม่เคยสร้างพระกริ่ง แม้พระเครื่องในรูปแบบอื่น ๆ ก็ยังเป็นที่สงสัยกันว่าท่านได้เคยสร้างไว้หรือไม่
6.เจ้าน้ำเงิน หรือ จ้าวน้ำเงิน คืออะไรกันแน่ ผมยังไม่ได้สืบค้นข้อมูล บางคนให้ความเห็นว่า ได้แก่แร่ธาตุชนิดหนึ่งมีสีน้ำเงิน ซึ่งผมก็สงสัยว่าในสมัยก่อนรู้จักสีเงินเมื่อไหร่ และเรียกสีน้ำเงินว่าอะไร ส่วนตัวผม เจ้าน้ำเงิน ไม่น่าเกี่ยวกับสี อาจจะเป็นแร่หรือธาตุที่เกี่ยวกับ เจ้า-น้ำ-เงิน หมายถึงแยก 3 ศัพท์นี้ออกจากกัน ไม่ใช่สีน้ำเงิน
7.พระเทพวิสุทธิเมธี (เจีย เขมิโก ป.ธ.๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เกิดเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ มรณภาพเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓
วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระวิสุทธิสมโพธิ
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธิเมธี ศรีวิบุลคณาจารย์ ตรีปิฎกญาณวิมล โกศลธรรมธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
8.ภาพประกอบพระกริ่งปรมานุชิต เจ้าคุณเจีย วัดโพธิ์ ท่าเตียน ปี 2498 จากสมาชิกทางบ้านส่งมาให้ เข้าใจว่าเป็นภาพถ่ายจากเจ้าของเดิมที่สมาชิกบูชาพระกริ่งปรมานุชิต เจ้าคุณเจีย วัดโพธิ์ ท่าเตียน ปี 2498 จากเว็บไซต์