พระคาถาชุบตัวนี้ที่มาออกจะเป็นภาษาโบราณสักหน่อย ใช้ในด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นคาถาที่พึ่งของนักรบสมัยโบราณ
พระคาถาชุบตัว
อะนะเต็กเต็ก ตับกูเบ็นเหล็ก ไส้ปอดกูเป็นทองแดง กระดูกกูเป็นกำแพง เนื้อหนังกูแข็งคือศิลา นะคงข้างซ้าย โมคงข้างขวา พุทคงข้างหน้า ธาข้างหลัง อิคงเมื่อนอน อะคงเมื่อนั่ง เดชะพระพุทธัง ช่วยคุ้มรักษา นะอุดโมอัด ทาบีด นึมึพึทึ อึอัดอึอุด
อานุภาพและวิธีใช้ พระคาถาชุบตัว
ตำราว่าไว้ ให้ภาวนาลูบพาขึ้นจากปลายเท้าถึงศีรษะ ๓ ที ทีละ ๑ คาบ ทำเช้าค่ำเป็นประจำทุกวัน คงกระพันแก่อาวุธทั้งปวงและกำลังมาก หากจะต่อสู้กับศัตรูก็ควรภาวนาพาขึ้นเพื่อปลุกความขลังอีก ๑ ทีก็ยิ่งดี ฯ
วิธีพาขึ้น ดังนี้
จงนั่งชักปลายเท้าทั้งสองข้างเข้ามาหาตัว แล้วเอาฝ่าเท้าประกบกันไว้เข่าสองข้างต้องกางแบะออก แล้วโน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อเอาฝ่ามือทั้งสองแตะที่ข้างฝ่าเท้า แล้วภาวนาคาถามือนั้นสีลูบไปมา ๓ ที แล้วลูบขึ้นทางข้างแข้งทั้งสองข้าง (ห้ามถูกหน้าแข้ง) ลูบผ่านข้างขาทั้งสองถึงตะโพก แล้วซักขึ้นสะเอวขึ้นตามสีข้างทั้งสอง แล้วผ่านใต้รักแร้ขึ้นเหนือต้นนม มือทั้งสองจะประสานกันเหนือหน้าอก มือขวาอยู่บนมือข้างซ้าย แล้วลูบขึ้นตามข้อมือไปตามลำแขนถึงหัวบ่า แล้วลูบผ่านข้างคอใต้หูตามขากันไกรถึงหน้า ฝ่ามือสองข้างกลับเป็นแบบปกติลูบขึ้นถึงศีรษะ นี่เป็นวิธีพาขึ้นของท่านขุนจำเริญภักดี
หากคาถาบทใดบอกว่าพาขึ้นเพียงไหนก็ให้ลูบขึ้นหยุดเพียงนั้น เช่น ถึงหน้าอก ถึงบ่า ถึงหน้า และถึงศีรษะ เป็นต้น ต้องหัดให้ชำนาญคล่องแคล่วเสียก่อนจึงใช้คาถา
การพาขึ้นนี้มีข้อห้ามอยู่ว่า ห้ามขึ้นถูกหน้าแข้งอาคมจะเสื่อม ขึ้นผ่านยอดอกตรงที่ลุ่ม (หัวใจ) จะเป็นบ้าอาคม ลูบสีไปมาข้างฝ่าเท้าเริ่มแรกนั้น เรียกว่าลับอาคมให้ขลังด้วยหินเนียน(หินหยาบคือฝ่าเท้า) อาคมที่ใช้พาขึ้นในตำราเล่มนี้เป็นวิชาร้อนและแรง จึงควรระวังต้องปฏิบัติให้ตรงตามที่กล่าวไว้ว่าพาขึ้นถึงหน้าอก ก็จะต้องเป็นหน้าอก ถึงบ่าก็จะต้องเพียงบ่าหรือหน้า เป็นบท ๆ ไป หากลูบพาขึ้นเกินสูงขึ้นกว่าที่บอกกำกับไว้ ก็เกรงจะร้อนแรงเป็นบ้าอาคมไป จงพึงระวัง คาถาทุกบทในตำราเล่มนี้ (หมายถึง หนังสือ ตำรา ไสยศาสตร์ ของ นายอนันต์ คณานุรักษ์) ที่แจ้งว่าให้ภาวนาลูบพาขึ้นนั้นก็ให้พาขึ้นตามวิธีนี้ได้ทุก ๆ บท ตามกำหนดที่หยุดไว้ ให้แล้ว
ที่มา : หนังสือ ตำรา ไสยศาสตร์ ของ นายอนันต์ คณานุรักษ์ พิมพ์แจกในพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.หลวงสุทธิสรสำแดง ต.ม. ๑ มิถุนายน ๒๕๑๒