ขุนแผนพราย 59 ตน อาจารย์เปล่ง บุญยืน ผสมผงพราย 59 ตน สร้างจำนวน 500 องค์ เมื่อ ปี 2541
เป็นขุนแผนสายพราย อันที่จริงผมก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าพรายคืออะไร เพราะไม่มีศัพท์ในบาลีโดยตรง ในบาลีเรียกผู้ที่ยังเวียนว่ายต่ายเกิดอยู่ทั้งหมด รวมทั้งเราท่านผู้อ่านด้วยว่า สัตตะ หรือสัตว์ซึ่งแปลว่า ข้องอยู่, ติดอยู่, พัวพัน (ในภพหรือการเวียนว่ายตายเกิด) ฉะนั้น พรายอาจจะเป็นกำเนิดใดกำเนิดหนึ่งที่เป็นโอปปาติกะ (บาลี: โอปปาติก โอปะปาติกะ) หมายถึง ผู้เกิดผุดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ และโตเต็มตัวในทันใด ตามแต่อดีตกรรม ตายก็ไม่มีซากปรากฏ ได้แก่ เทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาศัยอยู่ภพลึกลับ หากใครพบเจอเข้ามักเรียกเหมารวม ๆ ตามภาษาชาวบ้าน หรือเรียกตามความกลัวของตนเองว่า “ผี”
พรายตามความหมายของพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
[พฺราย] น. ผีจําพวกหนึ่ง (มักกล่าวกันว่าเป็นผีผู้หญิงที่ตายทั้งกลม)
ต่อมนํ้าเล็ก ๆ ที่ผุดกระจายขึ้นจากนํ้า. ว. แวววาว
ฉะนั้น พราย 59 ตน ที่กล่าวถึงในขุนแผนน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่ตายทั้งกลม
จากความหมายตามพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน จึงมีบางท่านให้ความหมาย พราย คือวิญญาณของเด็กที่ตายในท้อง ตายก่อนกำหนดคลอด (ไม่ขอใช้คำว่าตายเกิดก่อนนะ เพราะตอนอยู่ในท้องก็ถือว่าเกิดแล้ว อีกอย่างถ้าไม่เกิดจะมีตายได้อย่างไร)
สัตว์ที่ตายก่อนคลอด โดยเฉพาะมนุษย์นั้น น่าจะเป็นเพราะผลอกุศลกรรมบางอย่างมาตัดรอน(อุปฆาตกกรรม) อธิบายว่ามีผลของกุศลกรรมบางอย่างส่งผลให้เกิดเป็นมนุษย์(ชนกกรรม) แต่มีผลของอกุศลกรรมบางอย่างที่มีความแรงกว่า(อุปฆาตกกรรม) และตามทันจึงตัดรอนความเป็นมนุษย์นั้นลงไปเสีย
ตามหลักแล้ว สัตว์ (มนุษย์) เมื่อตายไม่ว่าจะจากอัตภาพใด ก็ย่อมเป็นไปตามกรรม คือไปตามกรรมที่ทำไว้ หรือกรรมส่งให้ไปเกิดทันทีในกำเนิดใดกำเนิดหนึ่ง ได้แก่ ชลาพุชะ (สัตว์เกิดในครรภ์) อัณฑชะ (สัตว์เกิดในไข่) สังเสทชะ (สัตว์เกิดในไคล) โอปปาติกะ (เกิดผุดขึ้นทันที) โดยที่ไม่ต้องรอใครมาสวดอะไรให้
แต่อาจจะมีอาจารย์ผู้มีความสามารถในการบังคับกักขัง หน่วงเหนี่ยว เจรจาต่อรอง ยื่นข้อเสนอให้สัตว์เหล่านั้นให้อยู่รับใช้ตนเองหรือทำกิจการงานต่าง ๆ ตามแต่อาจารย์นั้น ๆ จะใช้ให้ทำ
ถ้ามีการการบังคับกักขัง หน่วงเหนี่ยว เพื่อใช้งาน แบบนี้อันตรายหน่อย หากเครื่องบังคับกักขัง หน่วงเหนี่ยวเสื่อมลง (คาถาเสื่อม) พรายนั้นอาจจะทำอันตรายผู้บังคับกักขัง ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ใช้งานได้
แต่ถ้ามีการเจรจา หรือยื่นข้อเสนอจนพรายนั้นสมัครใจอยู่ช่วยงานตามความปรารถนาของอาจารย์ ก็อาจจะมีปัญหาน้อยหน่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหานะ ยกตัวอย่างเราเอานักเลง หรือคนเร่รอนตามข้างถนนมาตกลงเจรจาว่าจ้าง ใช้งาน แม้เราจะให้อาหาร เงินตามตกลง ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่างานจะสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ หากเอานอนที่บ้าน เฝ้าบ้าน เฝ้ารถ ผมว่าเจ้าของบ้านอาจจะนอนไม่เต็มหลับก็ได้ ไม่รู้ว่าเขาจะเกเรเมื่อไหร่ ไม่รู้จะแอบทำร้ายเราเมื่อไหร่ ไม่รู้จะขโมยของเราเมื่อไหร่ เราเลี้ยงไม่ดีอาจจะทำร้ายเราก็ได้ หรือมีคนอื่นให้ค่าจ้างดีกว่า เลี้ยงดีกว่า ก็อาจจะไปอยู่กับคนนั้น และกลับมาทำลายเรา ขโมยข้าวของบ้านเราก็ได้)
อาจารย์ทั้งหลายจะใช้วิธีการใดในการนำพรายมาใช้ก็ตามก็ย่อมมีเสนอแลกเปลี่ยนให้กับพรายทั้งนั้น เช่น การเลี้ยงดู การสังเวย การทำบุญอุทิศให้ เป็นต้น หากเจอพรายดีที่พร้อมจะช่วยเราก็ดีไป แต่หากเจอพรายเกเรก็แย่หน่อย ยิ่งหลายตนก็ยิ่งเรื่องมาก ควบคุมดูแลยากขึ้น