
ค้นหากันจัง คาถาเดินทางปลอดภัย แต่เจอแล้วก็บอกว่ายาวไป ท่องไม่ไหว ใจไม่จำ ทำไม่ได้ ไม่ภาวนากัน วันนี้เอาคาถาสั้น ๆ นำมาให้ภาวนา เป็นพุทธานุสสติ เตือนสติไม่ให้ประมาท ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยกันทุกคน
คาถา ภาวนาสั้น ๆ เดินทางปลอดภัย ไปดี มาดี
สุคะโต
สั้น ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ ว่า สุ-คะ-โต (ไม่ใช่ สุ-ขะ-โต)
สุคะโต เป็นพระเนมิตกนามของพระพุทธเจ้า ไทยใช้ว่า สุคต หรือ พระสุคต แปลว่า เสด็จไปดีแล้ว
สุคะโต ท่านให้ความหมายไว้ 4 นัย ดังนี้
นัยที่ 1 สุคะโต หมายความว่า ผู้มีทางเสด็จที่งาม คือ อริยมรรค อันเป็นทางที่สะอาด ไม่มีโทษ
นัยที่ 2 สุคะโต หมายความว่า ผู้เสด็จไปสู่ที่อันดี คือเสด็จไปสู่พระอมตนิพพาน
นัยที่ 3 สุคะโต หมายความว่า ผู้เสด็จไปแล้วโดยชอบ คือไม่เสด็จหวนกลับมายังกิเลสที่ทรงสะได้แล้วอีก เสด็จไปบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชาวโลกทั้งปวง และทรงดำเนินไปตามทางสายกลาง ไม่เข้าใกล้ทางสุดโต่งสองทางคือ กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค
นัยที่ 4 สุคะโต หมายความว่า ผู้ตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่วาจาที่ควร ในฐานะอันควร
หากจะแยกศัพท์ คำว่า สุคะโต แยกได้ดังนี้
เขียนแบบบาลีเป็น “สุคโต” อ่านว่า สุ-คะ-โต รูปคำเดิมคือ “สุคต” (สุ-คะ-ตะ)
รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม. ง่าย) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: สุ (ดี,งาม,ง่าย)+ คมฺ (ไป)= สุคมฺ + ต = สุคมต > สุคต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปดี”
ฉะนั้น เมื่อได้ภาวนา พุทธคุณบทว่า สุคะโต จึงเชื่อทำให้ผู้เดินทาง
เป็นผู้ไปดี คือไปที่ไหนก็ดีที่นั่น ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไปที่ไหนก็สร้างประโยชน์ให้ที่นั่น สร้างความยินดีให้แก่สถานที่ไป
เป็นผู้ไปอย่างงดงาม สง่างาม ไปไหนที่ไหนก็ได้รับการต้อนรับจากเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้ไปง่าย เดินทางไปไหนก็สะดวก ปลอดภัย ไร้อุปสรรค์ ไม่ติดขัดใด ๆ