ปาฏิหาริย์ในพุทธประวัติ ได้มีการบันทึกลงในคัมภีร์จริง แต่ก็ไม่ปรากฏมากนัก คงมีแต่ในเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น ตอนโปรดโจรองคุลีมาล เป็นต้น ซึ่งปาฏิหาริย์ดังกล่าวมานี้ หากไม่จำเป็นจริง ๆ พระพุทธองค์จะไม่ทรงแสดง นอกจากนั้นยังทรงบัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์แสดงปาฏิหาริย์ใด ๆ เพราะอาจเป็นที่มาของความลุ่มหลงมัวเมาคลั่งไคล้ของประชาชนได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสปาฏิหาริย์เอาไว้ ๓ ประการ ได้แก่
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ในการแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๒. อาเทสนาปาฎิหาริย์ ปาฎิหาริย์ในการทำนายทายทัก หรือทราบวาระจิตของผู้อื่น
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ได้แก่การสามารถสอน ให้ผู้คนเห็นธรรมได้อย่างง่ายดาย
ในปาฎิหาริย์ ทั้ง ๓ อย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์แสดงปาฏิหารย์สองข้อแรก แต่ทรงชื่นชมยินดีกับการแสดงปาฎิหาริย์ แบบที่สาม คือการสามารถแสดงธรรมให้ผู้อื่นรู้แจ้งด้วยปัญญาได้ ถือเป็นปาฏิหาริย์ที่ยอดเยี่ยม เพราะเป็นปาฏิหาริย์ที่ทำให้คนพ้นทุกข์ มิใช่เพื่อให้คนงมงาย
สรุปแล้ว อิทธิปาฏิหาริย์มีจริง เพียงแต่เป็นสิ่งที่ไม่ประเสริฐ ไม่ก่อให้เกิดความเจริญทางปัญญาแต่อย่างใด ยิ่งคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็อาจจะหลงทางนำเอาอิทธิปาฏิหาริย์ที่ตนมีไปใช้หาผลประโยชน์หรือเพิ่มทิฏฐิมานะให้กับตนเอง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์
โดย พระมหาบุญเพียร ปุญญวิริโย
จากสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ชุด พุทธประวัติ ฉบับ CD-ROM
จัดทำโดย ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
ห้องเรียนวัดศรีบุญเรือง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่