ความสุขอยู่ที่ไหน ใคร ๆ ก็ถามหา สุขเกิดจากการมีเงิน ลาภ ยศ สรรเสริญอย่างนั้นจริงหรือ ?
ทำอย่างไรจึงจะมีความสุข
ความสุขนั้นมีหลายระดับด้วยกัน ไม่ทราบว่าหมายเอาความสุขระดับไหน? แต่อย่างไรก็ตามควรทำใจให้ยอมรับความจริงประการแรกเสียก่อนคือ ความสุขนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างเหตุ เพื่อให้เกิดผลเป็นความสุขตามที่บุคคลนั้นๆต้องการ ฐานแห่งความสุขที่สำคัญ คือ ใจ กาย อย่างที่พูดกันว่า สุขกายสบายใจ เมื่อความสุขเป็นผล เหตุให้เกิดความสุขจึงมีมาก เช่น
-ไม่เป็นหนี้ใคร มีทรัพย์ สามารถใช้จ่ายทรัพย์ได้ตามต้องการ ทำงานไม่มีโทษ
-ความไม่เบียดเบียนกัน ฆ่าความโกรธที่เกิดขึ้นเสียได้ ไม่ปล่อยใจไปตามความอยากที่เกิดขึ้น สละประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อส่วนรวมได้ สะสมบุญกุศลไว้มากๆ ไม่คบคนพาล การแสดงธรรม ฟังธรรม คบหาคนดีเป็นมิตร มีเมตตาจิตต่อคน สัตว์ทั้งหลาย
-มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันละเหตุแห่งความทุกข์ได้เป็นต้นเหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุให้เกิดความสุขได้ทั้งนั้น สำหรับการดำรงชีวิตของคนทั่วไป การพยายามทำใจไม่ให้ยึดมั่นอะไรให้มากเกินไป โดยพยายามปรับใจให้ยอมรับความจริงตามสมควรแก่เหตุที่เกิดขึ้นได้ แล้วความสุขใจก็จะเกิดขึ้นคนเรานั้นเสียอะไรก็เสียไป แต่ใจอย่าเสียเท่านั้นก็อาจหาความสุขได้ตามสมควรแก่กรณีนั้นๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
สุขทุกข์ อยู่ที่ใจ มิใช่หรือ
ถ้าใจถือ ก็เป็นทุกข์ ไม่สุขใส
ใจไม่ถือ ก็เป็นสุข ไม่ทุกข์ใจ
เราอยากได้ ความสุข หรือทุกข์นา
แต่ความสุขที่ไม่เจือปนด้วยความทุกข์นั้น ต้องเกิดจากการละเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ด้วยความสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลาย จะทำให้ได้ความสงบอันเป็นนิพพานซึ่งเป็นบรมสุข.
พุทธศาสนสุภาษิต เกี่ยวกับความสุข
สพฺพตฺถ ทุกฺขสฺส สุขํ ปหานํ.
ละเหตุทุกข์ได้ เป็นสุขในที่ทั้งปวง.
ขุ. ธ. ๒๕/๕๙.
อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก.
ความไม่เบียดเบียน เป็นสุขในโลก.
วิ. มหา. ๔/๖. ขุ. อุ. ๒๕/๘๖.
เตสํ วูปสโม สุโข.
ความสงบระงับแห่งสังขารนั้น เป็นสุข.
สํ. ส. ๑๕/๘. ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๓๑.
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ.
ความสุข (อื่น) ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี.
ขุ. ธ. ๒๕/๔๒.
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ.
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.
ม. ม. ๑๓/๒๘๑. ขุ. ธ. ๒๕/๔๒.
สุโข พุทฺธานํ อุปฺปาโท.
ความเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ทั้งหลาย นำสุขมาให้.
ขุ. ธ. ๒๕/๔๑.
สุขา สทฺธมฺมเทสนา.
การแสดงสัทธรรม นำความสุขมาให้.
ขุ. ธ. ๒๕/๔๑.
อทสฺสเนน พาลานํ นิจฺจเมว สุขี สิยา.
จะพึงมีความสุขเป็นนิตย์ ก็เพราะไม่พบเห็นคนพาล.
ขุ. ธ. ๒๕/๔๒.
น เว อนตฺถกุสเลน อตฺถจริยา สุขาวหา.
การประพฤติประโยชน์กับคนไม่ฉลาดในประโยชน์ ไม่นำสุขมาให้เลย.
ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๑๕.
สุขํ สุปติ พุทฺโธ จ เยน เมตฺตา สุภาวิตา.
ผู้เจริญเมตตาดีแล้ว ย่อมหลับและตื่นเป็นสุข.
ว. ว.