ในพุทธประวัติได้กล่าวถึงเทวทูตทั้ง ๔ ที่พระองค์ได้พบขณะเสด็จประพาสพระนคร อันเป็นแรงบันดาลพระทัยที่สำคัญอันเกิดขึ้นกับเจ้าชายสิทธัตถะ จากการได้เห็นเทวทูตทั้ง ๔ นั่นเอง ทำให้พระองค์มีความดำริที่จะออกบวช เพราะว่า พระองค์ได้เห็นคนแก่แสนเวทนา คนเจ็บร้องครวญครางประหนึ่งจะขาดใจตาย และคนตายที่น่าสลดสังเวชพระทัย แต่เมื่อเห็นเทวทุตที่ ๔ คือ เห็นสมณะผู้สงบเรียบร้อย ปราศจากความกังวลและความทุกข์ใดๆ แล้ว จึงพอเห็นหนทางที่จะแสวงหาความดับทุกข์ให้กับพระองค์และมวลมนุษยชาติได้
เทวทูต หมายถึง คำเตือนหรือสัญญาณเตือนมาจากธรรมชาติ ที่เป็นลักษณะความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เทวดาเนรมิตให้เห็น เช่น ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ได้กล่าวถึง เทวทูตคือเส้นผมที่หงอกบนเศียรพระราชา เป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้ทราบว่าแก่แล้ว เมื่อพระองค์ทราบแล้ว จึงได้ออกบวชเพราะความแก่มาเยือนแล้ว
ในเทวทูตสูตร ได้กล่าวถึงเทวทูต คือสัญญาณเตือนมิให้ประมาทในชีวิต อันได้แก่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ การถูกลงโทษจองจำเพราะทำผิดต่อกฎหมาย และความตาย อันเป็นสัญญาณเตือนมิให้ทำความชั่ว
การที่เจ้าชายได้พบเทวทูตทั้ง ๔ นั้น ในพุทธประวัติมักจะอธิบายว่าได้พบในวันเดียวกัน และไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำไปว่าสิ่งที่พบนั้นคืออะไร ต่อเมื่อนายฉันนะอธิบายจึงจะทราบ การอธิบายทำนองนี้ อาจจะมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ศึกษาพุทธประวัติได้เห็นถึงขั้นตอนการใช้ความคิดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงถามเองและตอบเอง โดยน้อมเอาเหตุการณ์ที่ประสบนั้นมาพิจารณากับตัวเองก็ได้ เพราะโดยความเป็นจริงแล้วไม่มีทางเป็นไปได้ที่เจ้าชายผู้ฉลาดปราดเปรื่อง ศึกษาจบ ๑๘ สาขาวิชา และยังมีพระชนมายุถึง ๒๙ พรรษา จะไม่รู้จักคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะเลย
แต่ประเด็นที่สามารถพิจารณาได้อย่างสมเหตุสมผลคือ การที่พระองค์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่เมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษานั้น น่าจะหมายถึงการเห็นด้วยปัญญา คือการพิจารณาจนละเอียดจนเกิดความสลดสังเวชในพระทัยที่มนุษย์ต้องเผชิญกับความทุกข์นานาประการ โดยที่เมื่อก่อนนั้น พระองค์อาจจะหลงอยู่กับความสุขสนุกสนานตามประสาคนหนุ่ม เมื่อเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ก็สักว่าเห็น ไม่ได้นำมาพิจารณาด้วยปัญญาแต่อย่างใด แต่พอแก่ตัวเข้า ก็ได้เกิดความคิดขึ้นมา สิ่งที่ได้พบเห็นนั้นก็เลยกลายเป็นเทวฑูต
ทุกวันนี้ เราก็เห็นเทวทูตทุกวัน แต่ก็เพิกเฉยเสีย ไม่ได้นำมาคิดให้เกิดสติปัญญา ไม่ได้เห็นด้วยปัญญา เห็นอย่างนี้ก็เหมือนไม่ได้เห็น แต่เมื่อใดนำมาพิจารณาเห็นด้วยปัญญา จึงจะเรียกว่าเห็น เหมือนชาวไทยพุทธบางคน อยู่กับพระพุทธศาสนาทุกวันแต่ไม่เห็นพระพุทธศาสนา แต่เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาแล้ว คงจะอุทานขึ้นมาว่า “เมื่อก่อนฉันทำอะไรอยู่นี่” หรือชายหนุ่มหลงรักหญิงสาวชนิดที่ไม่ลืมหูลืมตาจนคนโบราณเรียกว่า “ความรักบังตา หรือ ความรักทำให้คนตาบอด” แม้จะมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตาบอด ก่อนนั้นเจ้าชายสิทธัตถะก็คงใช้ชีวิตอยู่เหมือนคนตาบอด เห็นเหมือนไม่เห็น รู้เหมือนไม่รู้ คัมภีร์ท่านจึงกล่าวว่า ท่านไม่เคยรู้เห็นมาก่อน
ม. อุ. 14/504/285
โดย พระมหาบุญเพียร ปุญญวิริโย จากสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ชุด พุทธประวัติ ฉบับ CD-ROM จัดทำโดย ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ห้องเรียนวัดศรีบุญเรือง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่