พระพรหมอาราธนาพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์
หลังจากพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ทรงพิจารณาว่าพระธรรมที่ได้ตรัสรู้เป็นสิ่งละเอียดลึกซึ้ง อันสัตว์โลกผู้มีกิเลสครอบงำยากที่จะเข้าถึงได้ ดังพระดำรัสในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ว่า
บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้วถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือนิพพาน
ความปริวิตกของพระพุทธองค์ทราบถึงท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งอยู่ในพรหมโลก พระองค์ได้เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อกราบอาราธนาให้พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดเหล่าสัตว์โลก ผู้มีธุลีในจักษุน้อยยังมีอยู่ เพราะไม่มีโอกาสได้สดับตรับฟัง จากนั้นพระพุทธองค์ได้รับคำทูลของพระพรหม แล้วทรงพิจารณาดูสภาพของสัตว์โลกซึ่งมีหลายระดับ พวกที่มีกิเลสเบาบางก็มี บางพวกก็มีกิเลสมาก ทรงเปรียบเหมือนกับดอกบัว ซึ่งมี ๓ ระดับ (บัว ๓ เหล่า ไม่ใช่ ๔ เหล่า)ได้แก่
๑) ระดับที่จมอยู่ในน้ำ
๒) ระดับที่อยู่เสมอน้ำ
๓) ระดับที่พ้นจากน้ำแล้ว จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงพิจารณาที่จะแสดงธรรม โดยได้แสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์
เรื่องราวตอนนี้ มีการวิเคราะห์ไว้โดยผู้รู้ทางพุทธศาสนาหลายท่าน โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า ?พรหม? ที่มาอาราธนาพระองค์ให้แสดงธรรมนั้น ไม่น่าจะหมายถึงพระพรหม เพราะเป็นความมุ่งมั่นและพระมหากรุณาตั้งแต่เริ่มต้นในการออกผนวชของพระองค์ที่ต้องการแสวงหาสัจธรรมเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลก คำว่า ?พรหม? นั้น น่าจะหมายถึง พรหมวิหารธรรม ที่เป็นแรงผลักดันให้พระองค์ต้องการแสดงธรรมแก่สัตว์โลก ธรรมดังกล่าว ได้แก่ ความเมตตา และความกรุณาที่เต็มเปี่ยมอยู่ในพระทัยของพระองค์ ทรงมีพระเมตตาสงสารสรรพสัตว์ที่ต้องวนเวียนอยู่ให้ห้วงกิเลสตัณหา
วินย. มหา. 4/7/9
วินย. มหา. 4/9/11 โดยทั่วไปมักจะนำเอาระดับบุคคล ๔ มาผนวกกับบัว ๓ เหล่า กลายเป็นบัว ๔ เหล่า แต่ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงบัว ๓ เหล่า
โดย พระมหาบุญเพียร ปุญญวิริโย จากสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ชุด พุทธประวัติ ฉบับ CD-ROM จัดทำโดย ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ห้องเรียนวัดศรีบุญเรือง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่