พระช่วยชาวบ้านถูกน้ำท่วม
ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมปี 2560 ที่ผ่านมานี้ จังหวัดสกลนครได้ประสบอุทกภัยอย่างหนักในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ก็ออกมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ซึ่งในนั้นก็รวมถึงพระสงฆ์ด้วย แต่ก็มีบางทางออกมาวิจารณ์ต่าง ๆ นานา ทั้งที่่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กล่าวว่าพระทำอาหารเองแจกชาวบ้านไม่เหมาะสมบ้าง ไม่ใช่กิจของสงฆ์บ้าง บางเรื่อง ถ้ามันไม่ใหญ่โตเกินไป เราไม่ต้องพูดถึงผิดถูกได้ไหม ไม่ต้องมากระแนะกระแหนว่าใช่กิจของสงฆ์หรือไม่ได้ไหม แค่เข้าใจว่าพอทำได้และเกิดประโยชน์ เพราะบางทีเรามัวแต่คิดกันแบบนี้ ว่ากันแบบนี้จึงกลายเป็นเห็นแก่ตัวก็มี มีหลวงพ่อรูปหนึ่ง ท่านเดินบิณฑบาตเห็นเศษตะปูกลางถนนที่ไม่มีใครต้องการแล้ว ท่านก็เก็บไปทิ้งที่ถังบ้าง ให้โยมที่ใส่บาตรที่คุ้นเคยกันบ้างให้นำไปใช้หรือทิ้งต่อในที่ควร นี่ก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่ท่านทำได้และทำแล้วเกิดประโยชน์ เพราะถ้าไม่เก็บไม่ทำอาจจะเกิดอุบุัติเหตุบนท้องถนน ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตและทรัพย์ได้ ซึ่งหลายคนไม่ทำเพราะมองว่าไม่ใช่กิจของเรา หรือการสร้างโรงพยาบาลโรงเรียนก็เหมือนกัน ไม่ใช่กิจของสงฆ์แต่ท่านพอทำได้ และทำแล้วมีประโยชน์ต่อมวลชนและประเทศชาติ แต่พวกที่คอยว่า คอยด่ากลับไม่ทำอะไร แถมยังมาพูดให้ว่าใช่กิจของสงฆ์ไหม
ในสมัยพุทธกาลเอง ยกตัวอย่างเรื่องพระภิกษุชาวโกสัมพีทะเลาะกัน (ไม่ใช่ชกต่อยกันนะ แต่โต้เรื่องพระวินัย เขาเรียกว่า วิวาทาธิกรณ์) เท่าที่อ่านมาและจำได้พระศาสดาก็ไม่ได้มาชี้ว่าใครผิดใครถูก แต่ให้สมานสามัคคีกัน มันใช่เรื่องใหญ่อะไร สามารถคุยกันได้ สามัคคีกัน
เรื่องพระทำกับข้าวบ้าง ลุยน้ำแจกข้าวชาวบ้าง ท่านก็ไม่ได้ทำบ่อย ๆ เมื่อถึงคราวที่ต้องช่วยเหลือกัน สิ่งไหนที่จะช่วยได้ก็ช่วย ท่านยอมถูกว่า ถูกด่าเพื่อช่วยคน ช่วยชาวบ้าน แล้วคนที่ว่าท่านช่วยอะไรบ้าง ถ้าช่วยก็ยิ่งเป็นความดี ท่านไม่ว่า
ในสมัยข้าวยาก พระศาสดาเคยทรงอนุญาตพิเศษ 8 ประการ (ในสมัยข้าวยากหมากแพง เกิดทุกขภัยต่าง ๆ ) มีดังนี้คือ (1) พระภิกษุสามารถเก็บอาหารหรือของกินไว้ในที่อยู่ของตนเองได้ (2) พระภิกษุสามารถหุงต้มอาหารในที่อยู่ของตนได้ (3) พระภิกษุลงมือหุงปรุงอาหารด้วยตนเอง (4) พระภิกษุสามารถหยิบเอาของเคี้ยวของฉันที่ยังมิได้ประเคนได้ (5) พระภิกษุสามารถฉันอาหารที่นํามาจากที่นิมนต์ได้ (6) การฉันอาหารก่อนเวลาภัตตาหาร ในกรณีที่รับนิมนต์ไว้ในที่อื่น แต่ ฉันอาหารอื่นก่อนอาหารที่ตนจะต้องฉันในที่นิมนต์ (7) พระภิกษุสามารถฉันสิ่งของที่เกิดหรือตกอยู่ในป่า ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ (8) พระภิกษุสามารถฉันสิ่งของที่เกิดในสระ เช่น ดอกบัว เหง้าบัวเป็นต้นได้