ที่มาของคำว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
มิตตวินทุกชาดก เราคงจะเคยได้ยินสุภาษิตหรือสำนวนว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” ซึ่งหมายความว่า เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นดี เห็นสิ่งที่ผิดเป็นถูก, เห็นผิดเป็นชอบ แท้จริงแล้วคำกล่าวนี้มาจากมิตตวินทุกชาดก เรื่องมีอยู่ว่า
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภถึงภิกษุรูปหนึ่งว่าเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ดังเช่นในอดีตชาติแล้วจึงตรัสเล่าว่า ในอดีตกาล มีบุตรชายเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองพาราณาสีชื่อว่ามิตตวินทุกะ เป็นคนที่มีนิสัยดื้อรั้นเอาแต่ใจตนเอง ไม่เชื่อฟังใครแม้แต่บิดามารดา เมื่อบิดาเสียชีวิต มารดาก็พยายามโน้มน้าวใจให้เขาใฝ่หาธรรม เมื่อถึงวันอุโบสถผู้เป็นมารดาจึงให้มิตตวินทุกะไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา โดยบอกว่าจะให้เงินรางวัลด้วยความยากได้เงินมิตตวินทุกะจึงยอมไปวัด แต่มิได้เข้าไปฟังพระธรรมเทศนา กลับไปแอบหลับอยู่หลังธรรมาสน์จนรุ่งเช้าค่อยกลับบ้าน ไปรับเงินจากมารดาตามที่ตกลงกันไว้
มิตตวินทุกะนำเงินที่ได้รับไปลงทุนค้าขายจนได้ผลกำไรดีแต่ด้วยความโลภ จึงคิดจะไปค้าขายทางทะเลมารดาห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง แม้จะฉุดรั้งไว้แต่มิตตวินทุกะก็สลัดจนหลุด และผลักมารดาเสียหลักล้มลงแล้วเดินข้ามไปโดยไม่หันกลับมามองมารดาที่ร้องห้ามปรามเขาอีกเลย
มิตตวินทุกะเดินทางล่องเรือออกไปค้าขายกับบรรดาพ่อค้า จนล่วงเข้าวันที่ 7 เรือได้หยุดนิ่งอยู่กลางมหาสมุทร ทำอย่างไรก็ไม่สามารถแล่นต่อไปได้ทุกคนมีความคิดเห็นว่าน่าจะมีคนกาลกิณีอยู่ในเรือ จึงได้ทำการจับฉลากเพื่อเสี่ยงทาย และมิตตวินทุกะก็จับฉลากได้ 3 ครั้ง ทำให้ถูกลอยแพลงกลางมหาสมุทรแพของมิตตวินทุกะลอยไปติดเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของนางเวมานิกเปรต 4 นาง แต่มิตตวินทุกะกลับมองเห็นเป็นหญิงสวยงาม จึงอยู่ร่วมกับนางเวมานิกเปรตทั้ง 4 แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงเดินทางต่อไป จนพบเกาะ 3 เกาะ คือ วิมานเงิน ที่อยู่ของนางเวมานิกเปรต 8 นาง วิมานแก้วมณีที่อยู่ของนางเวมานิกเปรต 16 นาง และวิมานทอง ที่อยู่ของนางเวมานิกเปรต 32 นาง ซึ่งมิตตวินทุกะได้อยู่ร่วมกับนางเวมานิกเปรตทั้งหมด แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงออกเดินทางต่อไป
ในที่สุด เขาได้มาพบสถานที่แห่งหนึ่ง คือ อุสสาทนรก แต่ด้วยผลแห่งกรรมทำให้เขามองเห็นเป็นเมืองที่รุ่งเรืองสวยงาม เมื่อเข้าไปในนั้น เขาได้พบสัตว์นรกตนหนึ่งซึ่งได้รับทุกขเวทนาจากกงจักรที่อยู่บนศรีษะแต่มิตตวินทุกะกลับเห็นเป็นชายหนุ่มรูปงาม มีดอกบัวอยู่บนศรีษะ มิตตวินทุกะคิดอยากได้ดอกบัวนั้น จึงเข้าไปขอดอกบัว แต่สัตว์นรกนั้นบอกว่า ไม่ใช่ดอกบัว แต่เป็นกงจักร มิตตวินทุกะไม่เชื่อ รบเร้าจะเอาให้ได้สัตว์นรกนั้นคิดว่า ผลแห่งกรรมชั่วของตนคงหมดแล้ว จึงมอบกงจักรนั้นให้แก่มิตตวินทุกะ เมื่อได้รับกงจักรมาแล้ว เขาจึงได้รู้ว่าไม่ใช่ดอกบัว และขอให้ผู้เป็นเจ้าของเอาคืนกลับไป แต่สัตว์นรกตนนั้นได้หายไปเสียแล้ว
ฝ่ายรุกขเทวดา ซึ่งแท้จริงคือพระโพธิสัตว์เมื่อทราบความทั้งหมด ได้กล่าวกับมิตตวินทุกะว่า เพราะความโง่เขลาดื้อรั้น และความโลภ เห็นผิดเป็นชอบ จึงทำให้มิตตวินทุกะต้องทนทุกข์ทรมานจากกงจักรนี้ไปจนกว่าวิบากกรรมจะหมดสิ้นไป
ข้อคิดจากมิตตวินทุกชาดก
- ความเป็นผู้ว่ายากสอนยาก หรือการไม่เชื่อฟังบุคคลผู้เตือนด้วยความหวังดี มักได้รับความเสื่อม
- การประทุษร้ายต่อบิดามารดา การทำให้มารดาบิดาได้รับความเสียใจ เป็นทางแห่งความเสื่อม
- มารดาบิดาที่ดีย่อมส่งเสริมลูกในทางที่ดี ให้มีความสนใจใฝ่ธรรม
- เมื่อมีโอกาสทำความดี ควรทำความดีเสีย เมื่อมีโอกาสได้ฟังธรรมควรตั้งใจฟัง เมื่อได้พบบัณฑิตควรเข้าไปนั่งใกล้
- มิตตวินทุกะละทิ้งวิมานเงิน วิมานแก้วมณี วิมานทอง ละทิ้งนางเวมานิกเปรตที่สวยราวนางฟ้าที่ปรนเปรอเขาด้วยกามสุขทุกประการ เพราะความไม่รู้จักพอของเขา โลภมากนอกจากลาภจะหายแล้ว ยังนำความฉิบหายมาสู่ตนด้วย
หมายเหตุ :
มิตตวินทุกชาดก ว่าด้วยจักรกรดพัดบนหัว : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
กาลกิณี เสนียดจัญไร, ลักษณะ หรือสิ่งที่เป็นอัปมงคล.
เวมานิกเปรต เปรตอยู่วิมาน ได้เสวยสุขและทุกข์สลับกันไป บางตนข้างแรมเสวยทุกข์ ข้างขึ้นเสวยสุข บางตนกลางคืนเสวยสุข กลางวันเสวยทุกข์ เวลาเสวยสุขอยู่ในวิมาน มีร่างเป็นทิพย์สวยงาม เวลาจะเสวยทุกข์ต้องออกจากวิมานไป และร่างกายก็กลายเป็นน่าเกลียดน่ากลัว.
ที่มา :
ใบความรู้มิตตวินทุกชาดก : https://nachuakpit.ac.th
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)