ไม่เคยมีใครถูกนินทาหรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียว แท้จริงแล้ว ผู้ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก
ณ กรุงสาวัตถี มีอุบาสกท่านหนึ่งชื่อว่าอตุละพาบริวารห้าร้อยคนเข้าไปยังวัดพระเชตวันเพื่อฟังธรรม
อันดับแรกเข้าไปแล้วพบพระเรวตเถระ ครั้นไหว้พระเรวตเถระแล้วนั่ง แต่เนื่องจากพระเถระเป็นผู้ยินดีในความสงบหลีกเร้นจากผู้คนจึงมิได้กล่าวอะไรกับอุบาสกนั้น เขาโกรธว่า “พระเถระนี้ไม่กล่าวอะไรเลย” จึงลุกขึ้น ไปหาพระสารีบุตรเถระ
เมื่อพระเถระถามว่า “พวกท่านมาด้วยต้องการอะไรหรือ?” จึงกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ ผมพาอุบาสกเหล่านี้เข้าไปหาพระเรวตเถระ เพื่อต้องการฟังธรรม พระเถระนั้นไม่กล่าวอะไรแก่ผมนั้นเลย ผมนั้นโกรธท่าน จึงมาที่นี้ ขอท่านจงแสดงธรรมแก่ผมเถิด.”
ลำดับนั้น พระเถระกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงนั่งเถิด อุบาสกทั้งหลาย” แล้วพระเถระได้แสดงอภิธรรมกถาอย่างมากมาย.
อุบาสกโกรธว่า “ชื่อว่าอภิธรรมกถา มีความละเอียดยิ่งนัก สุขุมยิ่งนัก, พระเถระแสดงแต่อภิธรรม, พวกเราไม่เข้าใจ” ดังนี้แล้ว ได้พาบริวารไปยังสำนักพระอานนทเถระ
แม้เมื่อพระเถระถามว่า “อุบาสก พวกท่านมาทำไม?” จึงกราบเรียนพระเถระว่า “ท่านขอรับ พวกผมเข้าไปหาพระเรวตเถระ เพื่อต้องการฟังธรรม ไม่ได้ยินแม้แต่คำทักทายปราศัย เลยโกรธ แล้วจึงมายังสำนักของพระสารีบุตรเถระ พระเถระนั้นกลับแสดงแต่อภิธรรมมากมายอย่างละเอียดยิ่งนักแก่พวกผม พวกผมโกรธแม้ต่อพระเถระนั่นว่า ‘พวกเราไม่ต้องการฟังธรรมอะไรที่ละเอียดมากมายขนาดนี้’ แล้วจึงมาที่นี้ ขอท่านจงแสดงธรรมกถาแก่พวกผมเถิด ขอรับ.”
พระเถระ. ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านจงนั่งฟังเถิด.
พระเถระแสดงธรรมแก่พวกเขาแต่น้อย ๆ ทำให้เข้าใจง่าย.
พวกเขาโกรธแม้ต่อพระอานนทเถระแล้ว จึงพากันไปยังที่ประทับของพระศาสดา เมื่อถึงแล้ว ได้ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามพวกเขาว่า “อุบาสกทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมกันหนอ.”
พวกอุบาสก. เพื่อต้องการฟังธรรม พระเจ้าข้า.
พระศาสดา ก็พวกท่านได้ฟังธรรมแล้วหรือ?
พวกอุบาสก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เบื้องต้น พวกข้าพระองค์เข้าไปหาพระเรวตเถระ ท่านไม่กล่าวอะไรกับพวกข้าพระองค์ พวกข้าพระองค์โกรธท่านแล้ว จึงได้ไปหาพระสารีบุตรเถระ, พระเถระนั้นก็ได้แสดงอภิธรรมแก่พวกข้าพระองค์มากมาย พวกข้าพระองค์กำหนดอภิธรรมนั้นไม่ได้ ไม่เข้าใจ จึงโกรธ แล้วเข้าไปหาพระอานนทเถระ แม้พระเถระนั้นแสดงธรรมแก่พวกข้าพระองค์น้อยนัก พวกข้าพระองค์โกรธต่อท่าน แล้วมาในที่นี้.
พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้ว จึงตรัสว่า
“อตุละ เรื่องนั้น คนเขาเคยประพฤติกันมาตั้งแต่โบราณแล้ว,
คนทั้งหลายติเตียนทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมาก ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว ด้วยว่าผู้อันเขาพึงติเตียนอย่างเดียวเท่านั้น หรือว่าผู้อันเขาพึงสรรเสริญอย่างเดียวไม่มีเลย;
แม้พระราชาทั้งหลาย คนบางพวกก็นินทา บางพวกก็สรรเสริญ,
แผ่นดินใหญ่ก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ดี ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี, คนบางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ,
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ๔ บางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ;
ก็การนินทาและสรรเสริญของพวกอันธพาลไม่เป็นประมาณ
แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน จึงชื่อว่าเป็นอันติเตียน
ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ”
ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
อตุละ การนินทาและสรรเสริญนั่น เป็นของเก่า,
นั่นไม่ใช่เป็นเหมือนมีในวันนี้, ชนทั้งหลายย่อมนินทา
ผู้นั่งนิ่งบ้าง, ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง, ย่อมนินทาผู้พูด
พอประมาณบ้าง๑-, ผู้ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก คนผู้ถูก
นินทาโดยส่วนเดียว หรือว่าอันเขาสรรเสริญโดยส่วน
เดียวไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้, หากว่า
วิญญูชนใคร่ครวญแล้วทุกๆ วัน สรรเสริญผู้ใด ซึ่งมี
ความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญา
และศีล, ใครเล่าย่อมควร เพื่อติเตียนผู้นั้นผู้เป็นดังแท่ง
ทองชมพูนุท๒- แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็สรรเสริญ
เขา ถึงพรหมก็สรรเสริญแล้ว.
ที่มา : เรื่องอตุลอุบาสก ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗