คาถาประสิทธิชัย “กูให้มึงชนะ” ของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่
พุทธะสังมิ ประสิทธิ ชัยยา มะหาลาภา ภะวันตุ เม
ปะ อะ กะ มุ สุ มิ
ประสิทธิ สุขัง ประสิทธิ โภคัง
ประสิทธิ นิพพานัง ภะวันตุ เม
เป็นคาถาของหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ด่านขุนทด นครราชสีมา ท่านเรียกว่า กูให้มึงชนะ
ที่มา : คาถาครูพักลักจำ
พุทธะสังมิ เป็นคาถาหัวใจพระไตรสรณคมน์
พุท ย่อมาจาก พุทธัง พระพุทธเจ้า
ธะ ย่อมาจาก ธัมมัง พระธรรมเจ้า
สัง ย่อมาจาก สังฆัง พระสงฆเจ้า
มิ หมายถึงตัวเรา ย่อมาจาก สะระณัง คัจฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึง (พุท ธะ สัง ซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า) เป็นสรณะ (ที่พึ่ง)
ปะ อะ กะ มุ สุ มิ คำเต็มน่าจะเป็น ปา อะ กา มุ สุ มิ อันเป็นหัวใจศีลห้า ได้แก่
ปา ย่อมาจาก ปาณาติปาตา การฆ่าสัตว์
อะ ย่อมาจาก อะทินนาทานา การถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย
กา ย่อมาจาก กาเมสุมิฉาจารา การประพฤติผิดในกาม ประพฤติต่อ ลูก สามี ภรรยา ของตนเองและผู้อื่น
มุ ย่อมาจาก มุสาวาทา การพูดเท็จ รวมทั้งพูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด
สุ ย่อมาจาก สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา การดื่มกินสุรา เมรัยของมึนเมาตลอดถึงสิ่งเสพติดอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
มิ หมายถึงตัวเรา ย่อจาก เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจาก…….(ปา อะ กา มุ สุ หรือ 5 ข้อข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว)
สรุปแล้ว คาถากูให้มึงชนะ ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ คือให้เรามีพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้าเป็นสรณะที่พึ่ง มีศีลห้าเป็นข้อปฏิบัติ (สมาทานศีลห้า) ด้วยเหตุนั้นย่อมสำเร็จซึ่งชัยชนะ ได้ลาภอันใหญ่ สำเร็จความสุข สำเร็จโภคะทรัพย์ สำเร็จมรรคผลนิพพาน อันที่จริงก็ความหมายเดียวกันกับคำสรุปศีลห้าที่พระท่านว่า
สีเลนะ สุคะติง ยันติ ศีลเป็นเหตุให้ถึงสุคติ (สวรรคสมบัติ)
สีเลนะ โภคะสัมปะทา ศีลเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ (มนุษยสมบัติ
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน (นิพพานสมบัติ)
ตัสมา สีลัง วิโสทะเย เพราะเหตุนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด
ฉะนั้น ใครอยากประสบความสำเร็จ ประสบชัยชนะ ประสบลาภ สมบูรณ์ด้วยโภคะ ประสบความสุข สำเร็จประโยชน์ในโลกนี้คือมีโภคะสมบัติ สำเร็จประโยชน์ในโลกหน้ามีสุคติสวรรค์ และสำเร็จประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ต้องมีพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งและปฏิบัติในศีลห้า
คาถานี้ ถือว่าเป็นคาถาที่ดีมาก ทั้งในตัวคาถาเองและความหมายของคาถา หลวงพ่อคูณท่านประสงค์ให้เรานำไปท่องจำและปฏิบัติตามความหมายแห่งคาถานั้น (เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น คงไม่มีพระสงฆ์รูปใดปฏิเสธไม่ให้ปฏิบัติตาม)