คำว่า “ภัย”
“ภัย” อ่านตามภาษาไทยว่า “ไพ” มาจากภาษาบาลีว่า “ภย” อ่านว่า พะยะ รากศัพท์มาจาก ภี ธาตุ ในความกลัว + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ภี + ณ = ภีณ > ภี > เภ > ภย แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว”
ภาษาสันสกฤตก็ใช้คำว่า “ภย” เช่นกัน แปลอย่างเดียวกับภาษาบาลี
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ภย : (คำวิเศษณ์) อันน่ากลัว; frightful; dreadful. – (คำนาม) ‘ภย. ภัย,’ ความกลัว; อันตราย; fear; danger or peril.”
“ภย” เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยทับศัพท์ว่า “ภัย”
“ภัย” กับ “อันตราย” ในบาลีใช้ไม่เหมือนกัน (บาลี : “อนฺตราย” อ่านว่า อัน-ตะ-รา-ยะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า ภัย ดังนี้
“ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”
ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งเป็นผู้จัดทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous
ภัย 18 ประการ
ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ได้รวบรวมสิ่งที่เห็นว่าเป็น “ภัย” (ในสมัยนั้น) ไว้ 18 อย่าง ดังนี้
1. ราชภยํ = ภัยเกิดแต่พระราชา (ผู้ปกครองบ้านเมืองไม่เป็นธรรม บีบคั้นเคี่ยวเข็ญประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ )
2. โจรภยํ = ภัยเกิดแต่โจร (โจรผู้ร้ายชุกชุม ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน)
3 สเวรภยํ = ภัยเกิดแต่บุคคลมีเวร (คู่อริปองร้าย)
4. ทุพฺภิกฺขภยํ = ภัยเกิดแต่ข้าวแพง (ของกินของใช้ฝืดเคือง, เศรษฐกิจไม่ดี)
5. อคฺคิภยํ = ภัยเกิดแต่ไฟ (ไฟไหม้ ไฟป่า ไฟฟ้าลัดวงจร)
6. อุทกภยํ = ภัยเกิดแต่น้ำ (น้ำท่วม น้ำหลาก)
7. อุมฺมิภยํ = ภัยเกิดแต่คลื่น (เช่น สึนามิ)
8. กุมฺภิลภยํ = ภัยเกิดแต่จระเข้ (หากนึกภาพไม่ออกให้ดูหนังเกี่ยวกับหนีจระเข้จะรู้ว่าเขากลัวแค่ไหน ตัวอย่างชัดเจนของคำว่า ภัย คือความกลัว)
9. อาวฏฺฏภยํ = ภัยเกิดแต่วังวน (น้ำหมุน พายุหมุน)
10. สุสุกาภยํ = ภัยเกิดแต่ปลาร้าย (สัตว์ร้ายในทะเล นึกถึงหนัง ปิรันย่า)
11. อตฺตานุวาทภยํ = ภัยเกิดแต่ติเตียนตนเอง (ทำผิดทำชั่วไว้ ไม่สบายใจ ประเภทที่ว่าไม่ให้อภัยตนเอง ก็เป็นภัยอย่างหนึ่ง)
12. ปรานุวาทภยํ = ภัยเกิดแต่บุคคลอื่นติเตียน (กลัวคนอื่นติเตียนนินทาว่าร้าย)
13. อสิโลกภยํ = ภัยเกิดแต่เสื่อมเสียชื่อเสียง (ความกลัวข้อนี้น่าจะต่อเนื่องจาก ปรานุวาทภยํ)
14. ปริสสารชฺชภยํ = ภัยเกิดแต่ความครั่นคร้ามแต่บริษัท (เข้าที่ชุมนุมแล้วประหวั่นพรั่นพรึงด้วยสาเหตุต่าง ๆ, กลัวในที่ประชุมรู้ความผิดของตน)
15. ทณฺฑภยํ = ภัยเกิดแต่อาชญา (กลัวถูกลงโทษ)
16. ทุคฺคติภยํ = ภัยเกิดแต่ทุคติ (ไปเกิดในภพภูมิที่เสื่อมทราม, กลัวว่าตายไปจะตกนรก)
17. อาชีวิกภยํ = ภัยเกิดแต่การเลี้ยงชีพ (ทำมาหากินลำบาก)
18. มรณภยํ = ภัยเกิดแต่ความตาย (กลัวความตาย)
“ภัย” ทั้ง 18 ประการนี้ เป็นเพียงมติหนึ่งของคัมภีร์มิลินทปัญหาเท่านั้น
ภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่งสร้างความหวาดกลัวเป็นอย่างมาก แต่ท่านไม่ได้เขียนไว้นั่นคือ เช่น โรคภัย (โร-คะ-พัย) ภัยเกิดแต่โรคระบาด มีโรคโควิด 19 เป็นต้น
ต้นฉบับจาก : ภัย คำสั้น แต่ความหมายนั้นยาวไกล
ศัพท์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัย
โรคภัย (โร-คะ-พัย) = ภัยเกิดแต่โรคระบาด
วาตภัย (วา-ตะ-พัย) = ภัยที่เกิดจากพายุ
อุบัติภัย (อุ-บัด-ติ-พัย) = ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ
มหันตภัย (มะ-หัน-ต-พัย) = ภัยใหญ่, ภัยครั้งใหญ่ (ศัพท์นี้ไม่พบในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔)