ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่? นี้เป็นคำถามที่มีมานานนับพัน ๆ ปี การเกิดนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย หากตอบตรง ๆ ไปว่าตายแล้วเกิด ในทางพระพุทธศาสนาจัดเป็น สัสสตทิฏฐิ คือมีความเห็นว่าโลกเที่ยง แต่หากตอบปฏิเสธไปว่าตายแล้วสูญ ตายแล้วไม่เกิดอีก ก็เป็น อุจเฉททิฎฐิ คือมีความเห็นว่าขาดสูญ ฉะนั้น จึงต้องหาจุดกลางให้ได้ว่าพระพุทธศาสนาได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ในรูปของเหตุปัจจัยที่อาศัยประชุมพร้อมกันแล้ว การเกิดก็มีขึ้น เช่น ในกรณีการถือปฏิสนธิในครรภ์ ท่านแสดงปัจจัยหลักไว้ว่า “มารดาบิดาร่วมกัน มารดามีระดู คันธัพพะถือปฏิสนธิ (สัตว์ที่จะปฏิสนธิในครรภ์) การเกิดก็ปรากฏขึ้น” ในคำว่า คันธัพพะนั้นชื่อแปลกออกไปจากที่อื่น คันธัพพะเองก็เกิดขึ้นจากปัจจัย ๓ ประการ คือ
- กมมํ เขตตํ กรรมดีกรรมชั่วเหมือนเนื้อนา
- วิญญาณํ พีชํ วิญญาณเป็นหน่อพืช
- ตณฺหา สิเนหํ ตัณหาเป็นยางเหนียว
ในเรื่องนี้ท่านได้แสดงอุปมาด้วยเมล็ดพืช เรายังไม่อาจจะตัดสินได้ว่าเมล็ดพืชนั้นจะปลูกงอกหรือไม่ แต่ต้องอาศัยปัจจัย ๓ ประการ คือ พื้นดิน หน่อ และยางเหนียวในเมล็ดพืชรวมกัน หากบกพร่องไปอย่างเดียว ก็ไม่อาจจงอกขึ้นได้ ฉันใด การบังเกิดของคน สัตว์ จึงต้องอาศัยปัจจัย ๓ ประการ คือกรรม กิเลส วิญญาณ ฉันนั้น
โดยนัยนี้ หากเราเข้าไปจับกับหลักของปฏิจจสมุปบาท กิเลสคืออวิชชา กรรมคือสังขาร วิญญาณก็คือปฏิสนธิวิญญาณ ในปฏิจจสมุปบาททรงแสดงแบบเป็นเหตุเป็นผลกันตามในปัจจัยหลักที่กล่าวมาข้างต้น คำว่า คันธัพพะ คือ คนธรรพ์เป็นชื่อของกิเลส กรรม วิญญาณรวมกัน แต่เพราะกำเนิดนั้นไม่ได้มีเฉพาะเกิดในครรภ์อย่างเดียว ปัจจัยที่สำคัญอันนำไปสู่การตัดสินว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ คือ กิเลส กรรม วิญญาณ ปัจจัยทั้ง ๓ นี้ขาดไปเพียงอย่างเดียวก็เกิดไม่ได้ คำตอบจึงยุติว่า
หากปัจจัย ๓ ประการนั้นมีอยู่ การเกิดก็ต้องมีอยู่
เมื่อปัจจัย ๓ ประการนั้นหมดไปการเกิดก็ยุติ ผู้เกิดก็ไม่มี.
ที่มา : ตายแล้วเกิดหรือไม่