
เมื่อสองวันที่ผ่านมามีกระแสดราม่าเกี่ยวกับสุภาพสตรีท่านหนึ่งอุ้มสนัขขณะที่กำลังใส่บาตรพระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันว่าทำได้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ผมเองก็ไม่ได้ติดตามกระแสมากนัก ที่ว่าไม่เหมาะสมนั้น มองในด้านไหน ด้านพระวินัย ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และสุขอนามัย ในบทความนี้ผมจะกล่าวเฉพาะในด้านพระวินัยของพระเท่านั้น
การตักบาตร คือการที่ทายกทายิกาน้อมนำภัตตาหารถวายแด่พระสงฆ์โดยการค่อย ๆ วางลงบาตร ซึ่งโดยปกติพระสงฆ์จะใช้มือทั้งสองประครองบาตรรับ การถวายด้วยมือหรือใช้ทัพพีตักถวายเช่นนี้ก็คือการประเคนสิ่งของพระนั่นเอง ในอรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐ ได้อธิบายลักษณะของการประเคนต้องประกอบด้วยลักษณะ ๕ ประการ ดังนี้
๑. ของไม่ใหญ่เกินไปพอบุรุษมีกำลังปานกลางยกขึ้นได้
๒. หัตถบาสปรากฏ ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง
๓. การน้อมถวายปรากฏ (คือประเคนต้องน้อมสิ่งนั้นเข้ามา อันเป็นลักษณะของการให้จริง ไม่ใช่พระหยิบแย่งจากมือ)
๔. ผู้ที่น้อมถวายนั้น เป็นเทวดา มนุษย์ หรือสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ จะพึงให้ด้วยกาย (ใช้มือจับสิ่งของถวายเอง) หรือของเนื่องด้วยกาย (ใช้ทัพพีตักสิ่งที่จะถวาย) ก็ได้ (เกี่ยวกับสัตว์ประเคนนั้น ให้ดูตัวอย่างคราวที่พระศาสดาประทับจำพรรษาในป่าปาลิเลยยกะ ในครั้งนั้นมีลิงและช้างอุปัฏฐากประเคนรังผึ้งที่ไม่มีตัวอ่อน น้ำ ผลไม้ อ้อย แด่พระพุทธเจ้า อันเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ซึ่งโบราณจัดเป็นพระพุทธรูปประจำผู้เกิดวันพุธกลางคืน อ่านเพิ่มเติม…สัตว์เดรัจฉานทำบุญได้ไหม พวกเขาทำบุญแล้วได้บุญไหม
๕. ภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย (ใช้มือรับ) หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย (ใช้บาตร หรือผ้ารับ)
ถ้าเข้าลักษณะ ๕ ประการนี้ ถือว่าเป็นการถวายโดยการประเคนอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ต่อไปนี้ เป็นข้อความบางตอนที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ประเคนสิ่งของ ที่ท่านได้ยกตัวอย่างไว้ในอรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐
ถ้าแม้นนกเอาจะงอยปากคาบดอกไม้ หรือผลไม้ถวาย หรือช้างเอางวงจับดอกไม้ หรือผลไม้ถวายอยู่ในหัสถบาสเห็นปานนี้, การรับประเคนย่อมขึ้น (ใช้ได้).
ก็ถ้าภิกษุนั่งอยู่บนคอช้างแม้สูง ๗ ศอกคืบ จะรับของที่ช้างนั้นถวายด้วยงวงก็ควรเหมือนกัน.
ในกรณีที่อุ้มสุนัขขณะใส่บาตร เมื่อกล่าวตามพระวินัยแล้ว ไม่ผิด แต่ในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และสุขอนามัย คงต้องแยกประเด็นกล่าว
ส่วนหนึ่งของบทความ
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์