อัฐบาน หรือ บาลีเดิมว่า อัฏฐะปานะ แปลว่า น้ำ ๘ อย่าง หมายถึงน้ำที่คั้นจากผลไม้ ๘ ชนิด ได้แก่ น้ำมะม่วง น้ำลูกหว้า น้ำกล้วยมีเม็ด น้ำกล้วยไม่มีเม็ด น้ำมะซาง น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น น้ำเหง้าบัว น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่. คำว่า อัฐบาน นี้ จะเรียกสั้น ๆ ว่า น้ำปาน
ตามปรกติพระภิกษุสามเณรจะฉันอาหารเมื่อเวลาเลยเที่ยงไปแล้วไม่ได้. แต่พระภิกษุสามเณรอาจฉันน้ำอัฐบานได้ ถ้าน้ำอัฐบานนั้นได้รับประเคนมาภายในวันนั้น. เนื่องจากในวินัยสงฆ์มีข้อบัญญัติว่า อาหารประเภทอัฐบานพระภิกษุจะเก็บไว้ฉันได้เพียง ๑ วันกับ ๑ คืน เท่านั้น.
ต่อมา นอกจากน้ำที่คั้นจากผลไม้ ๘ ชนิดแล้ว พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำจากผลไม้เกือบทุกชนิด ยกเว้นผลไม้ที่ใหญ่กว่าผลมะตูม ทรงอนุญาตน้ำจากใบ ดอก ราก และอื่น ๆ อีกมากมาย ณ ที่ผู้ผมจะไม่กล่าวถึงว่าน้ำจากอะไรบ้าง แต่เป็นอันเข้าใจว่า น้ำ ที่ไม่ใช่น้ำเปล่า ที่พระภิกษุสามเณรพึงฉันได้ในเวลาวิกาล อนุโลมว่าเป็นน้ำอัฐบาน หรือน้ำปานะในบทความนี้
เราควรถวายน้ำอัฐบานหรือน้ำปานะในโอกาสใด
- อุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาสามารถถวายน้ำอัฐบานได้ในทุกโอกาส ทุกวัน ทุกเวลา
- ถวายน้ำอัฐบานในวันที่พระลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ๑๕ ค่ำ
- ถวายน้ำอัฐบาน เป็นเจ้าถวายน้ำอัฐบานในวันทางทางวัดมีกิจกรรม เช่น กฐิน ผ้าป่า ผูกพัทธสีมา งานทำบุญคล้ายวันเกิด งานครบรอบวัน งานปริวาสกรรม เป็นต้น
- ถวายน้ำอัฐบานในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น
- เป็นเจ้าภาพถวายน้ำอัฐบานในช่วงเข้าพรรษาตลอดทั้งพรรษา
- ถวายน้ำอัฐบาน ถวายน้ำปานะแก่พระภิกษุสามเณรผู้อาพาธ
- ถวายน้ำอัฐบาน ถวายน้ำปานะในวันเกิด
- ถวายน้ำอัฐบาน ถวายน้ำปานะแก่พระภิกษุ สามเณรผู้อาพาธที่โรงพยาบาลสงฆ์
คำถวายน้ำอัฐบาน
อิมานิ มะยัง ภันเต, อัฏฐะปานานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, อัฏฐะปานานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, นิพพานายะ จะฯ
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, น้ำอัฐบาน, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์, จงรับ, น้ำอัฐบาน, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, เพื่อมรรคผลนิพพาน, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ.
อานิสงส์ของการถวายน้ำอัฐบาน น้ำปานะ
๑. เป็นผู้มีอายุยืน
๒. เป็นผู้มีกำลัง
๓. เป็นนักปราชญ์
๔. เป็นผู้มีวรรณะสวยงาม
๕. เป็นผู้มียศ
๖. เป็นผู้มีสุข
๗. เป็นผู้ได้ข้าว
๘. เป็นผู้ได้น้ำ
๙. เป็นคนกล้า
๑๐. เป็นผู้มีปัญญา
๑๑. เป็นผู้มีจิตเบิกบาน
๑๒. เป็นผู้มีโรคน้อย